วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร
ศรุต สุทธิอารมณ์, พรพิมล อธิปัญญาคม, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ, วนาพร วงษ์นิคง, สัญญาณี ศรีคชา, วิภาดา ปลอดครบุรี, ชนินทร ดวงสอาด, สุเมธ พากเพียร, บุษบง มนัสมั่นคง และศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา

          โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศัตรูพืชที่สำคัญของแก้วมังกรซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สำคัญของภาคตะวันออก การศึกษานี้มุ่งเน้นที่จะหาวิธีการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในแก้วมังกร และการป้องกันกำจัดโรคสำคัญในแก้วมังกร ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ถึงเดือนกันยายน 2558 ทั้งในห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และในสภาพไร่ของเกษตรกร การศึกษาปริมาณความหนาแน่นและช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในแก้วมังกรพบแมลงวันผลไม้ที่ดักจับได้ในแปลงปลูกแก้วมังกรทั้งหมด 5 ชนิด คือ Bactrocera dorsalis, Bactrocera correcta, Bactrocera cucurbitae, Bactrocera umbrosa และ Bactrocera tau ชนิดที่พบมากที่สุดคือ Bactrocera dorsalis ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่เข้าทำลายผลแก้วมังกร การศึกษาวิธีป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ได้ทำการศึกษาเทคโนโลยีการห่อผลเพื่อป้องกันการทำลายของแมลงวันผลไม้พบว่า ถุงห่อผลที่ทำจากวัสดุชนิดต่างๆ ได้แก่ ถุงพลาสติก ถุงเคลือบสารเคมี ถุงใยสังเคราะห์ ถุงกระดาษสีน้ำตาล ถุงผ้าไนล่อน และถุงห่อผลไม้สำเร็จรูป “ซุนฟง” ให้ผลในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูผลแก้วมังกรได้ 100% และไม่มีผลต่อคุณภาพของผลแก้วมังกรทั้งขนาด น้ำหนัก รูปทรง และสีของผล และพบว่าการห่อผลเพียงอย่างเดียวและร่วมกับการใช้สารฆ่าแมลงที่ 14 วัน ให้ผลในการป้องกันแมลงทำลายผลแก้วมังกร 100% เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแก้วมังกรที่สำคัญ โดยการทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง (Dysmiscoccus neobrevipes Beardsley) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของแก้วมังกร พบว่าสารกำจัดแมลง thiamethoxam 25%WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร dinotefuran 10%WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbaryl 85%WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbosulfan 20%EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ imidacloprid 70%WG 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลในการควบคุมเพลี้ยแป้งได้ดีไม่แตกต่างกัน และพบว่ามีพิษตกค้างในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ยกเว้นสาร carbaryl 85%WP

          การศึกษาโรคของแก้วมังกรพบสาเหตุที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ โรคแอนแทรคโนส ราเข้าทำลายที่ลำต้นและที่ผล สาเหตุเกิดจากราสกุล Colletotrichum 2 ชนิด ได้แก่ Colletotrichum gloeosporioides และ C. truncatum โรคผลเน่าสาเหตุเกิดจากรา Bipolaris cactivora เข้าทำลายทั้งลำต้นและผล และโรคที่สำคัญอีกโรคหนึ่งและทำความเสียหายรุนแรงมาก ได้แก่ โรคจุดสีน้ำตาล (Brown spot) หรือโรคลำต้นแคงเคอร์ (stem canker) สาเหตุเกิดจากรา Neoscytalidium dimidiatum ส่วนการทดลองประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดโรคพืชควบคุมโรคจุดสีน้ำตาลของแก้วมังกร ดำเนินการทดลองในแปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ระหว่างปี 2555 – 2556 พบว่า สารป้องกันกำจัดโรคพืช prochoraz และ azoxystrobin +  difenoconazole ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุด รองลงมาได้แก่ mancozeb carbendazim azoxystrobin และ benomyl ในปี 2557 - 2558 ผลการศึกษาประสิทธิภาพโรคผลเน่าของแก้วมังกรที่แปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พบว่าเมื่อพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช 7 ครั้ง พบว่าสารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin + difenoconazole มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคน้อยที่สุด รองลงมา ได้แก่ propiconazole + difenoconazole, mancozeb และ procloraz สรุปการป้องกันกำจัดโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่าของแก้วมังกร หลังจากการเก็บผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว ให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช copper oxychloride จากนั้นให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin + difenoconazole หรือ propiconazole + difenoconazole หรือ procloraz หรือ mancozeb ทุก 7 วัน จำนวน 4 ครั้ง และพ่นอีก 3 ครั้งช่วงดอกบานห่างกัน 7 วัน


ไฟล์แนบ
.pdf   155_2558.pdf (ขนาด: 271.59 KB / ดาวน์โหลด: 4,352)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม