โครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกล้วยเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพ
#1
โครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกล้วยเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพเพื่อการส่งออก
เพ็ญจันทร์ สุทธานุกูล, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, วรางคณา มากกกำไร, รักชัย คุรุบรรเจิดจิต, จิดาภา สุภาผล, สุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ์, มลุลี บุญเรือง, สำเริง ช่างประเสริฐ, กุลธิดา ดอนอยู่ไพร, ธำรง ช่วยเจริญ, รุ่งทิวา ดารักษ์, ประยูร สมฤทธิ์, พสุ สกุลอารีวัฒนา, กาญจนา ทองนะ, วีระพงษ์ สมใจ, นิยม ไข่มุก, ปัญจพล สิริสุวรรณมา, ศศิธร ประพรม, ขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย, บุญญาภา ศรีหาตา, พิกุล ซุ่นพุ่ม, ประหยัด ยุพิน และสมชาย บุญประดับ
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย, สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี, กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร และสำนักผู้เชี่ยวชาญ

          การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไข่โดยการชักนำเนื้อเยื่อกล้วยไข่ในสภาพปลอกเชื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้เกิดการกลายพันธุ์โดยการฉายรังสีแกมมา อัตรา 0, 10, 20, 30, 40 และ 50 เกรย์ พบค่า LD50 ของต้นอ่อนกล้วยไข่ในสภาพปลอดเชื้อที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาอยู่ที่ 34 เกรย์ ปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้นจาก 0- 30 เกรย์ ส่งผลให้ปริมาณกล้วยไข่ต้นเตี้ยเพิ่มขึ้น อัตราการหักล้มลดลง การคัดเลือกเบื้องต้นได้กล้วยไข่จำนวน 9 สายต้น คือ KM 1-11, KM 2-30, KM 32.20, KM 2-20, KM 3-6, KM 25-6, KM 22-27, KM 9-20, และ KM 30-11 โดยมีความสูงต้นอยู่ระหว่าง 170 - 210 เซนติเมตร เส้นรอบวงโคนลำต้นเทียมอยู่ระหว่าง 47 - 55 เซนติเมตร น้ำหนักเครือกล้วยอยู่ระหว่าง 4.6 - 8.8 กิโลกรัม จำนวนหวีต่อเครืออยู่ระหว่าง 4 - 6 หวี น้ำหนักหวีอยู่ระหว่าง 1.01 - 1.41 กิโลกรัม เพื่อนำไปใช้ไปปลูกเปรียบเทียบและทดสอบตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการขอรับรองพันธุ์ต่อไป

          การจัดการเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพในช่วงฤดูแล้ง จังหวัดสุโขทัย และจันทบุรี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพส่งออก ระหว่างตุลาคม 2554 - กันยายน 2557 โดยศึกษาการปลูก 2 ระบบ คือ ปลูกเป็นพืชเดี่ยวและปลูกแซมในระหว่างแถวมะม่วง (สุโขทัย) และขนุน (จันทบุรี) มีการให้น้ำแบบ Mini sprinkle และ Mini sprinkle ร่วมกับ Mist spray รวมทั้งการจัดการหวีสุดท้าย โดยการตัดหวีตีนเต่า และไม่ตัดหวีตีนเต่า ทำ 4 ซ้ำ ซ้ำละ 25 ต้น ผลการทดลองจังหวัดสุโขทัยพบว่า กล้วยไข่ที่ปลูกแซมในสวนมะม่วงให้น้ำหนักเครือรุ่นแม่ระหว่าง 6.95 - 7.44 กิโลกรัม รุ่นหน่อ 4.77 - 4.87 กิโลกรัม ผลผลิตกล้วยไข่ที่ได้ให้น้ำหนักเครือ จำนวนหวีต่อเครือเปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีที่ได้มาตรฐานส่งออกมากกว่าการปลูกเป็นพืชเดี่ยวทั้งรุ่นแม่และรุ่นหน่อ ส่วนการจัดการน้ำทั้ง 2 แบบ ไม่มีผลต่อผลผลิตและคุณภาพ แต่การให้น้ำแบบมินิสปริงค์เกอร์ร่วมกับการพ่นฝอย (mist spray) ให้ความกว้างผลและน้ำหนักผลมากกว่าการให้น้ำแบบมินิสปริงค์เกอร์ ส่วนการตัดหวีสุดท้าย (ตีนเต่า) ก่อนการห่อเครือจะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีมาตรฐานมากกว่าการไม่ตัดหวีสุดท้าย การปลูกในสภาพแปลงเดี่ยวรุ่นแม่และรุ่นหน่อมีต้นหักล้ม 2.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการปลูกเป็นพืชแซมรุ่นแม่ไม่มีการหักล้ม ส่วนรุ่นหน่อหักล้ม 2.5 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ด้านผลตอบแทนพบว่า การปลูกกล้วยไข่เป็นพืชเดี่ยวในปีแรกมีต้นทุนค่อนข้างสูงโดยมีค่าระบบน้ำ และเมื่อคิดต้นทุนและผลตอบแทนแล้วทำให้ขาดทุน 3,280 บาทต่อไร่ ส่วนในรุ่นหน่อจะประหยัดต้นทุนในเรื่องของต้นพันธุ์ ระบบน้ำ และถุงห่อทำให้มีกำไรสุทธิ 11,000 บาทต่อไร่ ส่วนการปลูกแซมในรุ่นแม่มีกำไรสุทธิ 4,410 บาทต่อไร่ ส่วนในรุ่นหน่อมีกำไรสุทธิ 18,540 บาทต่อไร่ จังหวัดจันทบุรีพบว่า กล้วยไข่ที่ปลูกแซมในสวนขนุนให้น้ำหนักเครือเฉลี่ย 5.3 กิโลกรัม จำนวนหวีต่อเครือ 5.2 หวี เปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือ และน้ำหนักหวีที่ได้มาตรฐานส่งออก 76.76% และ1116.6 กรัม ตามลำดับ ส่วนการปลูกเป็นพืชเดี่ยวให้น้ำหนักเครือเฉลี่ย 5.97 กิโลกรัม จำนวนหวีต่อเครือ 4.73 หวี เปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือ และน้ำหนักหวีที่ได้มาตรฐานส่งออก 84.49% และ1,291.5 กรัม ตามลำดับ ส่วนการจัดการน้ำทั้ง 2 แบบ ให้ผลผลิตและคุณภาพใกล้เคียงกัน ส่วนการตัดหวีสุดท้าย (ตีนเต่า) ก่อนการห่อเครือ จะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีมาตรฐานมากกว่าการไม่ตัดหวีสุดท้ายประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ด้านการหักล้มพบว่า การปลูกในสภาพแปลงเดี่ยวมีการหักล้ม 11.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การปลูกเป็นพืชแซมไม่มีการหักล้ม ด้านผลตอบแทนเมื่อรวมรายได้และหักต้นทุนต่างๆ แล้วพบว่าการปลูกกล้วยไข่เป็นพืชเดี่ยวให้ผลตอบแทน 21,614 บาทต่อไร่ ส่วนการปลูกเป็นพืชแซมจะมีรายได้ทั้งจากพืชหลักและพืชแซมทำให้มีรายได้สุทธิสูงถึง 40,130 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตามรายได้สุทธิจะมากหรือน้อยจะขึ้นกับปริมาณผลผลิตที่ได้คุณภาพเป็นสำคัญเพราะจะส่งผลต่อราคาค่อนข้างมากโดยเฉพาะกล้วยไข่ที่ได้มาตรฐานราคาจะต่างกับกล้วยไข่ที่ไม่ได้มาตรฐาน 8 - 10 เท่า

          การศึกษาผลของช่วงเวลาและระดับความสูงในการตัดลำต้นที่มีต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพกล้วยไข่เพื่อการส่งออก ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อให้ได้ช่วงเวลาและระดับความสูงในการตัดลำต้นกล้วยไข่ที่เหมาะสม ลดปัญหาการหักล้มจากแรงลมในช่วงฤดูแล้ง ดำเนินการ 2 ปี พบว่าการไม่ตัดต้นกล้วยไข่เป็นวิธีการที่ให้ผลผลิตดีที่สุด มีรายได้มากกว่าร่ายจ่าย ในปี 2555/56 การไม่ตัดต้นกล้วยไข่มีผลผลิต 4,406 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้ 30,842 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 20,875 บาทต่อไร่ กำไร 9,967 บาทต่อไร่ ค่า BCR 1.50 และปี 2556/57 การไม่ตัดต้นกล้วยไข่ มีผลผลิต 3,813 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้ 26,693 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 17,675 บาทต่อไร่ กำไร 9,018 บาทต่อไร่ ค่า BCR 1.48 การตัดต้นกล้วยเมื่ออายุ 3 เดือน ที่ระดับความสูง 60 เซนติเมตร และการตัดต้นกล้วยเมื่ออายุ 4 เดือน ที่ระดับความสูง 60 เซนติเมตร มีกล้วยไข่หักล้มมากสุด 17 ต้นต่อพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ 1 ไร่ ขณะที่การไม่ตัดต้นกล้วยไข่ ไม่มีการหักล้มของต้นกล้วยไข่ ดังนั้นการตัดลำต้นสามารถลดความสูงของต้นกล้วยได้ แต่ขณะเดียวกันอายุการเก็บเกี่ยวกล้วยไข่เพิ่มมากขึ้น ผลผลิตกล้วยไข่ลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ช้าลง กำไรลดลงจาก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายค่าแรงตัดต้นกล้วย การไม่ตัดต้นกล้วยไข่มีค่า BCR 1.5 คือ การลงทุนที่มีกำไรสามารถปฏิบัติได้ การตัดต้นกล้วยไข่ทุกกรรมวิธี เป็นวิธีการที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

          ศึกษาศักยภาพการการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่ปี 2557 ถึง ปี 2558 พบว่า การให้น้ำมีผลทำให้กล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์เจริญเติบโตดีกว่าได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว มีแนวโน้มว่าการให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์มีความสูงที่สุด 180.2 เซนติเมตร แต่พันธุ์กำแพงเพชรมีแนวโน้มว่าการให้น้ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความสูงของลำต้นเทียมสูงที่สุด 171.9 เซนติเมตร กล้วยไข่ทั้ง 2 พันธุ์ มีขนาดเส้นรอบวงลำต้นเทียมไม่แตกต่างกัน และการให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มทำให้เส้นรอบวงของลำต้นเทียมมากที่สุด จำนวนใบไม่แตกต่างกัน เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยกล้วยพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 มีจำนวนใบระหว่าง 10.7 - 11.8 ใบ ส่วนกล้วยพันธุ์กำแพงเพชรมีจำนวนใบเท่ากันในทุกกรรมวิธีมีค่าเท่ากับ 11.3 ใบ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนหน่อของกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์พบว่า พันธุ์กำแพงเพชรมีแนวโน้มให้จำนวนหน่อมากกว่ากล้วยพันธุ์เกษตรศาสตร์ในทุกกรรมวิธี การออกดอกติดผลกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 การให้น้ำมีแนวโน้มส่งผลต่อน้ำหนักเครือ น้ำหนักหวี จำนวนผลต่อหวีของกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์ องค์ประกอบผลผลิตกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์ใกล้เคียงกันและมีความหวานใกล้เคียงกันทั้งการให้น้ำและไม่ให้น้ำมีค่า 7.7 - 8.5 °Brix

          การศึกษาศักยภาพการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าในจังหวัดนครพนม กล้วยไข่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ จังหวัดนครพนมเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะปลูกเพื่อการค้า จึงได้ศึกษาศักยภาพการการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าขึ้นในจังหวัดนครพนม ดำเนินการในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ในปี 2557 ถึงปี 2558 วางแผนการทดลองแบบ split plot 4 ซ้ำ 2 ปัจจัย ปัจจัยหลัก ประกอบด้วยเป็นพันธุ์กล้วยไข่ จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ 1) พันธุ์กำแพงเพชร และ 2) พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ปัจจัยรองประกอบด้วยการให้น้ำ 3 ระดับ ได้แก่ 1) ไม่ให้น้ำ คือ ได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว 2) ให้น้ำช่วงฤดูแล้ง ตามค่าการระเหย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 3) ให้น้ำช่วงฤดูแล้ง ตามค่าการระเหย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้น้ำโดยใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า การให้น้ำมีผลทำให้กล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์เจริญเติบโตดีกว่าได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เมื่อกล้วยไข่อายุ 10 เดือน หลังปลูก (เมษายน 2558) ซึ่งเป็นระยะที่กล้วยไข่ให้ผลผลิตพบว่า การให้น้ำมีผลทำให้กล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์การเจริญเติบโตดีกว่าที่ได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยการได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียวกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์ให้ความสูงขนาดลำต้น เฉลี่ย 85.7 และ 26 เซนติเมตร จำนวนใบ 6 ใบต่อต้น แต่ความถี่ในการให้น้ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้กล้วยไข่ทั้งสองสายพันธุ์เจริญเติบโตดีขึ้นแต่ไม่แตกต่างกันในทางสถิติ โดยเมื่อได้รับน้ำต่อสัปดาห์ 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ให้ความสูงของลำต้นเทียมของกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์เฉลี่ย 164 และ 174 เซนติเมตร ขนาดเส้นรอบโคนต้นเฉลี่ย 43 และ 45 เซนติเมตร จำนวนใบเฉลี่ย 7 และ 11 ใบต่อต้น การให้ผลผลิตพบว่า การให้น้ำมีผลต่อปริมาณผลผลิตในรุ่นแรกของกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์ โดยกรรมวิธีที่ให้น้ำให้ผลผลิตสูงแตกต่างจากกรรมวิธีที่ไม่ให้น้ำเสริมอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยกล้วยไข่ที่ได้รับน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียวให้ผลผลิตเพียง 0.38 กิโลกรัมต่อเครือ หรือ 151 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การให้น้ำเสริมน้ำ 1 และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์กล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์ให้ผลผลิตสูงแต่ไม่แตกต่างกันในทางสถิติ โดยการให้น้ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ พันธุ์กำแพงเพชรและเกษตรศาสตร์ 2 ให้น้ำหนักเครือ 4,150 และ 4,670 กรัมต่อเครือ หรือให้ผลผลิตรวมเท่ากับ 1,867 และ 1,658 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ พันธุ์กำแพงเพชรและเกษตรศาสตร์ให้น้ำหนักเครือ 4,440 และ 4,730 กรัมต่อเครือ หรือคิดเป็นผลผลิตรวมเท่ากับ 1,890 และ 1,777 กิโลกรัมต่อไร่

          การศึกษาศักยภาพการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าในจังหวัดชัยภูมิ ดำเนินงานทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ ระหว่างปี 2557 - 2558 วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพการการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าภายใต้ระบบจัดการคุณภาพ :GAP กล้วยไข่ ของกรมวิชาการเกษตร ในสภาพพื้นที่จังหวัดชัยภูมิเพื่อการผลิตกล้วยไข่ให้มีปริมาณและคุณภาพผลผลิตตรงตามมาตรฐานคุณภาพสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจวางแผนการทดลองแบบ split plot จำนวน 4 ซ้ำ 2 ปัจจัย ปัจจัยหลัก คือ พันธุ์กล้วยไข่ จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กำแพงเพชรและพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ปัจจัยรอง คือ การให้น้ำ 3 ระดับ ได้แก่ 1) ไม่ให้น้ำ (ได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว) 2) ให้น้ำช่วงฤดูแล้ง ตามค่าการระเหยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 3) ให้น้ำช่วงฤดูแล้ง ตามค่าการระเหยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พบว่าการเจริญเติบโตของกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์เมื่ออายุ 9 เดือน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยที่พันธุ์กำแพงเพชรและพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 มีความสูงต้น 187.5 และ 181.9 ซม. เส้นรอบวงโคนต้น 42 และ 45 ซม. จำนวนหน่อต่อต้น 6.4 และ 7.37 หน่อ ตามลำดับ แต่จำนวนใบทั้งสองพันธุ์มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ พบว่าพันธุ์กำแพงเพชรและพันธุ์เกษตรศาสตร์มีจำนวนใบ 9.88 และ 13.1 ใบต่อต้น ผลผลิตของกล้วยทั้ง 2 พันธุ์ ไม่มีความแตกต่างกันในลักษณะน้ำหนักของเครือ จำนวนหวีต่อเครือ น้ำหนักผลและจำนวนผลต่อหวีแต่จะมีความแตกต่างกันในลักษณะความยาวเครือโดยพบว่า พันธุ์กำแพงเพชรมีความยาวเครือ 44 ซม. มากกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ที่มีความยาวเครือ 35.2 ซม. สำหรับการให้น้ำ 1 และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ทำให้กล้วยมีความยาวเครือมากกว่าการได้รับน้ำตามธรรมชาติ ผลผลิตของกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกรรมวิธีการให้น้ำ 1 และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ กับกรรมวิธีได้รับน้ำตามธรรมชาติ พบว่าการให้น้ำ 1 และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ให้ผลผลิตสูงกว่าการได้รับน้ำตามธรรมชาติและผลผลิตกล้วยไข่ทั้งสองพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติเมื่อได้รับน้ำ 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ การให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีต้นทุนการผลิตสูงสุด จำนวน 30,401 บาทต่อไร่ ทำให้กล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรและเกษตรศาสตร์ 2 ได้รับผลผลิตสูงสุด 3,125 และ 2,579 กก.ต่อไร่ ผลตอบแทน 16,474 และ 8,284 บาทต่อไร่ และอัตราส่วนรายได้ต่อการลงทุน 1.54 และ 1.27 ตามลำดับ การให้น้ำจำนวน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้นทุนการผลิต 29.401 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 3,524 และ 5,174 บาทต่อไร่ และอัตราส่วนรายได้ต่อการลงทุน 1.11 และ 1.17 ตามลำดับ และการได้รับน้ำตามธรรมชาติต้นทุนการผลิต 16,716 บาทต่อไร่ ผลผลิตกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรและเกษตรศาสตร์2 908 และ 297 กก.ต่อไร่ ผลตอบแทนขาดทุน 3,096 และ 12,261 บาทต่อไร่ และอัตราส่วนรายได้ต่อการลงทุน 0.81 และ 0.26 ตามลำดับ ดังนั้นในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิในสภาพดินทราย ช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน ควรมีการให้น้ำกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรและเกษตรศาสตร์ 2 อย่างน้อยจำนวน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควรแบ่งการให้น้ำเป็นจำนวน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ การได้รับน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียวทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

          การทดลองการศึกษาศักยภาพการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าในจังหวัดมุกดาหาร เริ่มดำเนินการทดลองในเดือนกันยายนปี 2557 สิ้นสุดเดือนกันยายนปี 2558 ในพื้นที่แปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร ดำเนินการทดลองในพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 400 ต้นต่อไร่ โดยวางแผนการทดลองแบบ Split plot design มีจำนวน 4 ซ้ำ ประกอบด้วย ปัจจัยหลัก 1) ไม่ให้น้ำ 2) ให้น้ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 3) ให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปัจจัยรองคือ 1) กล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชร 2) กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 วิธีการให้น้ำจะให้แบบหัวน้ำสปริงเกลอร์แบบปีกนก ซึ่งการทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าภายใต้ระบบจัดการคุณภาพ GAP กล้วยไข่ของกรมวิชาการเกษตร ในสภาพพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การผลิตกล้วยไข่ให้มีปริมาณและคุณภาพผลผลิตตรงตามมาตรฐานคุณภาพ สำหรับแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ ผลการดำเนินการทดลองพบว่าการทดลองในครั้งนี้ได้ให้น้ำหัวสปริงเกอร์แบบปีกผีเสื้อ และวิธีการที่ให้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะให้จำนวน 33 ครั้ง รวมประมาณน้ำที่ให้ตลอดฤดูปลูก 1,606 มิลลิลิตร และวิธีการให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมจำนวนครั้งที่ให้ 56 ครั้ง ทั้งสองวิธีการให้น้ำจะให้นานครั้งละ 1 ชั่วโมง รวมปริมาณน้ำที่ให้ตลอดฤดูปลูก 2,606 มิลลิลิตรวิธีการให้น้ำกล้วยไข่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์มีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยทั้งสองพันธุ์ด้านความสูง มีจำนวนหน่อมาก เมื่อให้น้ำ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีผลต่อจำนวนวันเก็บเกี่ยวหลังตัดปลี เฉลี่ยจำนวน 43 - 45 วัน และการให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ทำให้กล้วยไข่มีน้ำหนักทั้งเครือ 5.8 กิโลกรัมต่อไร่ และน้ำหนักหวีสูงสุด 1.23 กิโลกรัมต่อหวี นอกจากนั้นเส้นผ่านศูนย์กลางผลของกล้วยไข่ขนาด 3.24 เซนติเมตร และมีความยาวผล 8 เซนติเมตร ในขณะที่วิธีการให้น้ำ 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้กล้วยไข่มีจำนวนผล 16 - 17 ผลต่อหวี และมีจำนวนหวี 5 หวีต่อเครือ มีค่าความหวานบริกซ์ 20.89 - 21.7 และมีน้ำหนักผลสูงสุด 77 กรัมต่อผล ในวิธีการให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งให้ผลผลิตสูงสุด 2,313 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งวิธีการให้น้ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ให้ผลผลิต 1,721 กิโลกรัมต่อไร่

          การศึกษาผลของภาชนะบรรจุและวิธีการจัดการต่างๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ การยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ นับเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการส่งออก งานวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาผลของภาชนะบรรจุและวิธีการจัดการต่างๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ โดยดำเนินการทดลองในปี 2555-2556 ในปี 2555 ดำเนินการทดลองที่สถาบันวิจัยพืชสวน วางแผนการทดลองแบบ 2×2×2 Factorial in CRD ทดสอบ 3 ปัจจัย ได้แก่ ชนิดถุงบรรจุ (polyethylene (PE) และ low density polyethylene (LDPE))การควบคุมโรคที่ขั้วหวี (จุ่มสารกันรา และจุ่มน้ำร้อน) และการใส่สารดูดซับเอทิลีน (ใส่และไม่ใส่) รวม 8 กรรมวิธี ทำการซื้อผลผลิตกล้วยไข่เกรดส่งออกมาทำการทดลองตามกรรมวิธีดังกล่าว โดยเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 ± 2  ْC และตรวจสอบอายุการเก็บรักษาและคุณภาพด้านต่างๆ ทุก 2 สัปดาห์ พบว่ากรรมวิธีที่ใช้ถุง PE สามารถเก็บรักษากล้วยไข่ได้นานกว่าการใช้ถุง LDPE โดยพบว่ากรรมวิธีที่ดีที่สุดของการใช้ถุง LDPE คือ ใช้ร่วมกับการจุ่มสารกันราและใส่สารดูดซับเอทิลีน ซึ่งสามารถเก็บรักษาผลผลิตได้นาน 4 สัปดาห์ ในขณะที่กรรมวิธีใช้ถุง PE ทุกกรรมวิธีสามารถเก็บรักษาได้ 6 สัปดาห์ และการใช้ถุง PE ร่วมกับสารกันรามีเปอร์เซ็นต์หวีที่เก็บรักษาได้สูงกว่าการจุ่มน้ำร้อน การใส่สารดูดซับเอทิลีนช่วยให้เก็บรักษาได้มากกว่าไม่ใส่สาร ดังนั้นในการทดลองครั้งที่ 2 ปี 2556 จึงปรับกรรมวิธีโดยตัดกรรมวิธีใช้ถุง LDPE ออก เพิ่มกรรมวิธีควบคุมโรค คือ จุ่มน้ำร้อนร่วมกับสารกันราที่ความเข้มข้นลดลงครึ่งหนึ่ง (125 ppm) และทำการทดลองในสเกลที่ใหญ่ขึ้นโดยทำการบรรจุผลผลิตในกล่องลักษณะเดียวกับการส่งออก และเก็บรักษาในห้องเย็นอุณหภูมิ 13 ± 2  ْC โดยดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี วางแผนการทดลอง 3×2+1 Factorial in CRD ทดสอบ 2 ปัจจัย คือ การควบคุมโรคที่ขั้วหวี และการใส่สารดูดซับเอทิลีน และกรรมวิธีควบคุมซึ่งใช้ถุง PE เจาะรู รวม 7 กรรมวิธี ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีใช้ถุง PE ร่วมกับสารกันราทั้งมีสารดูดซับและไม่มีสารดูดซับเอทิลีนสามารถเก็บรักษากล้วยไข่ได้นานที่สุด 8 สัปดาห์ ในขณะที่กรรมวิธีจุ่มน้ำร้อนเก็บรักษาได้ 6 สัปดาห์ กรรมวิธีจุ่มน้ำร้อนร่วมกับสารกันราเก็บรักษาได้ 4 - 6 สัปดาห์ และกรรมวิธีควบคุมเก็บได้เพียง 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่ากรรมวิธีที่ใส่สารดูดซับเอทิลีนมีเปอร์เซ็นต์จำนวนหวีที่เก็บรักษาได้สูงกว่าและมีค่าคะแนนการเกิดโรคน้อยกว่ากรรมวิธีที่ไม่ใส่สารดูดซับ และการใช้สารกันรามีประสิทธิภาพควบคุมเกิดโรคได้ดีที่สุด ในขณะที่การจุ่มน้ำร้อนและการจุ่มน้ำร้อนร่วมกับสารกันรามีประสิทธิภาพต่ำกว่าและไม่แตกต่างกัน ดังนั้นในการทดลองครั้งที่ 3 ปี 2556 จึงปรับกรรมวิธีอีกครั้งโดยตัดกรรมวิธีไม่ใส่สารดูดซับเอทิลีนออกแต่คงกรรมวิธีจุ่มสารกันราไม่ใส่สารดูดซับเอทิลีนไว้เป็นกรรมวิธีควบคุม และปรับลดเวลาที่ใช้ในการจุ่มน้ำร้อนลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากพบสีผิวไม่สม่ำเสมอเมื่อสุก วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 4 กรรมวิธี ผลปรากฏว่ากรรมวิธีใช้ถุง PE ร่วมกับสารกันราทั้งใส่สารดูดซับหรือไม่ใส่สารดูดซับเอทิลีนสามารถเก็บรักษากล้วยไข่ได้นานที่สุด 8 สัปดาห์ โดยกรรมวิธีที่ใส่สารดูดซับมีคะแนนการเกิดโรคต่ำที่สุด ในขณะที่กรรมวิธีจุ่มน้ำร้อนเก็บรักษาได้ 6 สัปดาห์ และมีคะแนนการเกิดโรคสูงสุด ส่วนกรรมวิธีจุ่มน้ำร้อนร่วมกับสารกันราเก็บรักษาได้ 4 สัปดาห์ และมีคะแนนการเกิดโรครองลงมา และทุกกรรมวิธีไม่พบความผิดปกติในสี กลิ่น และรสชาติ ดังนั้นจากการทดลองทั้ง 3 ครั้ง จึงสรุปได้ว่ากรรมวิธีที่ดีที่สุดในการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ คือ การใช้ถุง PE ร่วมกับการใช้สารกันราอิมาซาลิล 250 ppm และใส่สารดูดซับเอทิลีน

          การศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวที่ระดับต่างๆ ต่อภาชนะบรรจุ LDPE เพื่อยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ อายุการเก็บเกี่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออายุการเก็บรักษาของกล้วยไข่ รวมทั้งการเก็บรักษาในภาชนะบรรจุที่เหมาะสมเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงดำเนินการศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวระดับต่างๆ เมื่อเก็บรักษาในถุง polyethylene (PE) ต่ออายุการเก็บรักษากล้วยไข่ โดยดำเนินการการทดลองในปี 2555 - 2556 ในปี 2555 ดำเนินการทดลองที่สถาบันวิจัยพืชสวน ช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม - กันยายน) วางแผนการทดลองแบบ CRD 3 ซ้ำ ซ้ำละ 2 หวี 6 กรรมวิธี คือ อายุการเก็บเกี่ยวกล้วยไข่หลังกาบปลีเปิดเต็มที่ต่างๆ กัน ได้แก่ 30, 33, 35, 37, 40 และ 45 วัน พบว่าที่อายุ 30 และ 33 วัน ผลกล้วยส่วนใหญ่แก่ 60% ที่อายุ 35, 37 และ 40 วัน ผลกล้วยส่วนใหญ่แก่ 70% และที่อายุ 45 วัน ผลกล้วยแก่ 100% เมื่อนำกล้วยในแต่ละกรรมวิธีบรรจุในถุง PE เก็บรักษาที่ 13 ± 2 °C และตรวจสอบอายุการเก็บรักษารวมถึงคุณภาพหลังการบ่มสุกทุก 2 สัปดาห์ พบว่าอายุ 30 วันหลังกาบปลีเปิด สามารถเก็บรักษาได้นานที่สุด 8 สัปดาห์ มีอัตราการผลิตก๊าซเอทิลีนและคาร์บอนด์ออกไซด์ต่ำ แต่พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ TSS ต่ำสุดและแตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีอื่นๆ ส่วนที่อายุเก็บเกี่ยว 33, 35, 37, 40 และ 45 วันเก็บรักษาได้ 6, 6, 4, 4 และ 2 สัปดาห์ ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มการผลิตก๊าซเอทิลีนสูงขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุวันหลังกาบปลีเปิดยาวกว่าโดยเฉพาะที่ 40 และ 45 วัน สำหรับคุณภาพหลังการบ่มสุก พบปริมาณ TSS ของอายุ 35 - 45 วันหลังตัดปลี มีปริมาณสูงกว่าที่ 30 และ 33 วัน และไม่แตกต่างกันทางสถิติ รวมถึงไม่พบกลิ่นและรสชาติผิดปกติใดๆ ในทุกกรรมวิธี ดังนั้น อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่สุด คือ 35 วันหลังกาบปลีเปิดเต็มที่ หรืออาจเก็บเกี่ยวในช่วง 35 - 37 วัน หากส่งออกในระยะใกล้ สำหรับปี 2556 ดำเนินการทดลองต่อยอดจากปี 2555 โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อายุ 35 วันหลังกาบปลีเปิด ทดสอบกรรมวิธีลดหรือชะลอการเกิดจุดกระและการเกิดโรคที่ขั้วหวี ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวน จันทบุรี ช่วงเดือนกันยายน วางแผนการทดลองแบบ CRD กรรมวิธีทดสอบ 5 กรรมวิธี ได้แก่ จุ่มสารกันรา 250 ppm, จุ่มน้ำร้อน 50 °C 3 นาที, จุ่มไคโตซาน 0.5%, จุ่มน้ำร้อนร่วมกับไคโตซานและจุ่มสารกันราร่วมกับไคโตซาน แบ่งการตรวจสอบผล 2 ระยะ คือ หลังการปฏิบัติตามกรรมวิธี บ่มสุกแล้วตรวจสอบผล ซึ่งทำ 3 ซ้ำ ซ้ำละ 2 หวี และหลังการปฏิบัติตามกรรมวิธีแล้วเก็บรักษาในถุง PE ที่ 13 ± 2 °C เป็นเวลา 4 สัปดาห์ บ่มสุกแล้วตรวจสอบผล ซึ่งทำ 3 ซ้ำ ซ้ำละ 1 กล่อง (12 หวี) โดยมีกรรมวิธีจุ่มสารกันราแล้วเก็บรักษาในถุง PE เจาะรู เป็นกรรมวิธีควบคุม สำหรับบ่มสุกทันทีหลังปฏิบัติตามกรรมวิธี ผลปรากฏว่ากรรมวิธีจุ่มสารกันราให้ผลในการชะลอการเกิดจุดกระและควบคุมโรคที่ขั้วหวีได้ดีที่สุด และสำหรับบ่มสุกหลังการเก็บรักษา 4 สัปดาห์ พบว่ากรรมวิธีจุ่มสารกันราแล้วเก็บรักษาในถุง PE เจาะรู (ควบคุม) สุกก่อนถึง 4 สัปดาห์ และกรรมวิธีที่ดีที่สุด คือ จุ่มสารกันราร่วมกับไคโตซาน


ไฟล์แนบ
.pdf   132_2558.pdf (ขนาด: 2.48 MB / ดาวน์โหลด: 2,663)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม