โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียว
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียว
อำนวย อรรถลังรอง, ไกรสิงห์ ชูดี, นันทนา โพธิ์สุข, เพทาย กาญจนเกษร, ประสงค์ วงศ์ชนะภัย, ปัญญา ธยามานนท์, ดรุณี สมณะ, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สิทธิศักดิ์ แสไพศาล และสำรวย รวมชัยอภิกุล
สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียว ประกอบด้วยกิจกรรม การวิจัยและพัฒนาพันธุ์กระเจี๊ยบเขียว และเทคโนโลยีการอารักขากระเจี๊ยบเขียว ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ.2554 - 58 โดยการเปรียบเทียบพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวชุดที่ 1 จำนวน 8 สายพันธุ์ รวมกับพันธุ์การค้าและพันธุ์อ่อนแอ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรและกาญจนบุรี ระหว่างปี 2554 - 2555 วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล๊อคสมบูรณ์จำนวน 3 ซ้ำ คัดเลือกพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ต้านทานต่อโรคเส้นใบเหลืองและให้ผลผลิตสูงไว้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ PC5402 PC5403 และ PC5404 เมื่อนำไปทดสอบในแปลงเกษตรกร 2 ราย ในจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างปี 2556 - 2557 วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล๊อคสมบูรณ์จำนวน 3 ซ้ำ คัดเลือกเหลือเพียงสองสายพันธุ์ คือ PC5402 และ PC5403 เมื่อนำไปทดสอบการยอมรับของเกษตรกรผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวเพื่อการส่งออก ในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี พบว่าเกษตรกรยอมรับทั้งสองสายพันธุ์ เนื่องจากสายพันธุ์ทดสอบทั้งสองให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ และมีช่วงการเก็บเกี่ยวที่นานกว่าพันธุ์เกษตรกร เกษตรกรพึงพอใจในพันธุ์ PC5402 ซึ่งให้ผลผลิตรวมและผลผลิตมาตรฐานระหว่าง 2,162.65 - 4,155.58 และ 622.55 - 3,077.85 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ จึงได้เสนอขอรับรองเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร และระหว่างการพิจารณารับรอง ส่วนการผสมและคัดเลือกพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวลูกผสมระหว่างพันธุ์ญี่ปุ่นและอินเดียที่ต้านทานโรคเส้นใบเหลือง ระหว่างปี 2554 - 2556 คัดเลือกแบบสืบประวัติได้กระเจี๊ยบเขียวที่ต้านทานโรคเส้นใบเหลืองและฝักมีคุณภาพดีจำนวน 10 สายพันธุ์ เมื่อนำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรและกาญจนบุรี ระหว่างปี 2557 - 2558 วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล๊อคสมบูรณ์จำนวน 3 ซ้ำ คัดเลือกได้กระเจี๊ยบเขียวที่ต้านทานต่อโรคเส้นใบเหลืองและฝักมีคุณภาพดี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ PC5706 PC5707 และPC5709 ทั้งสามสายพันธุ์ให้ผลผลิตสูงเมื่อไม่เกิดโรคระบาด แต่ค่อนข้างอ่อนแอ่ต่อโรคเส้นใบเหลืองในพื้นที่กาญจนบุรี ขณะที่อารักขากระเจี๊ยบเขียวพบว่า สารฆ่าแมลง flubendiamide 20%WG, emamectin benzoate 1.92%EC, lufenulon 5%EC, novaluron 10%EC และ methoxyfenozide 24%SC อัตรา 6 กรัม 15, 20, 10 และ 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ และไวรัส SeNPV, แบคทีเรีย (Centari WDG) และ ไวรัส SeNPV อัตรา 15 มิลลิลิตร ผสมแบคทีเรีย (Centari WDG) อัตรา 30 มล., 60 กรัม และ 15 มล + 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ มีประสิทธิภาพดีในการควบคุมประชากรของหนอนกระทู้หอม สารกำจัดแมลงที่ใช้ไม่มีผลกระทบต่อกระเจี๊ยบเขียว


ไฟล์แนบ
.pdf   122_2558.pdf (ขนาด: 1.39 MB / ดาวน์โหลด: 3,676)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม