วิจัยและพัฒนาการอารักขาเห็ด
#1
วิจัยและพัฒนาการอารักขาเห็ด

การศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดราเมือก (slime mould) ที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดถุงเพื่อการค้า

          การศึกษาหาวิธีการป้องกันกำจัดราเมือก (slime mould) ที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดถุงเพื่อการค้า ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2555 ที่แปลงฟาร์มเพาะเห็ดของเกษตรกร และห้องปฏิบัติการของกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พบว่าสารเคมี Mancozeb 50% เกลือแกง 10% ปูนขาว 10% และคลอร็อกซ์ 10% อัตราส่วนผสม 1,000 ppm. ในอาหาร PDA มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของราเมือกได้ ในขณะที่เมื่อตรวจสอบสารทั้งหมด ที่มีผลกระทบต่อการเจริญของเส้นใยเห็ดนางรมพบว่า สารเคมี Mancozeb 50% ทำให้เส้นใยเห็ดหยุดชะงักการเจริญ ในขณะที่เกลือแกง 10% ปูนขาว 10% และคลอร็อกซ์ 10% ยังพอทำให้เส้นใยเห็ดเจริญได้ แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าการเจริญของเส้นใยที่เจริญบนอาหาร PDA ปกติ สารสกัดจากเปลือกมังคุด สารสกัดจากไพล สารสกัดจากใบพลู และสารสกัดจากข่า ที่ผสมความเข้มข้นที่ 500,000, 400,000, 300,000, 200,000 และ 100,000 ppm. ในอาหาร PDA มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของราเมือกได้ ในขณะสารสกัดจากพืชทั้ง 4 ชนิด ในความเข้มข้น 100,000 ppm. ในอาหาร PDA ทำให้เส้นใยเห็ดเจริญได้ในอัตราที่ต่ำกว่าการเจริญของเส้นใยที่เจริญบนอาหาร PDA ปกติ แต่ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 200,000 ppm. ขึ้นไป มีผลทำให้เส้นใยเห็ดนางรมชะงักการเจริญแบคทีเรีย B. subtilis 4 ไอโซเลท คือ BS 1, BS 2, BS3 และ BS 4 มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของราเมือกได้ โดยไม่มีผลทำให้เส้นใยเห็ดนางรมหยุดชะงักการเจริญ และเมื่อทดสอบผลของสารเคมี สารสกัดจากพืช และแบคทีเรีย B. subtilis ที่มีต่อการเจริญของราเมือกที่ปนเปื้อนบนก้อนเห็ดในโรงเรือนเพาะเห็ดถุงพบว่า เกลือแกง 10% ปูนขาว 10% และคลอร็อกซ์ 10% มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของราเมือกได้ 100% ในขณะที่ สารสกัดจากพืชทั้ง 4 ชนิด คือ ที่ใช้ในความเข้มข้น 100,000 ppm. และจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ B. subtilis ทั้ง 4 ไอโซเลท ไม่สามารถกำจัดเชื้อราเมือกที่ปนเปื้อนในก้อนเห็ดนางรมให้หมดไปได้

ชนิด และแหล่งอาศัยของเชื้อรา Papulaspora sp. และระดับความเสียหายพี่พบปนเปื้อนในการเพาะเห็ดฟาง (Volvariella volvacea) เป็นการค้า


          การศึกษาชนิด และแหล่งอาศัยของเชื้อรา Papulaspora sp. และระดับความเสียหายพี่พบปนเปื้อนในการเพาะเห็ดฟาง (Volvariella volvacea) เป็นการค้า ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2555 โดยสำรวจเก็บตัวอย่างวัสดุเพาะเห็ดฟางที่พบเชื้อราสีน้ำตาลเข้าทำลาย แล้วนำเชื้อรามาแยก จำแนกชนิดที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิทยาไมโค กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พบเชื้อราสีน้ำตาลวัสดุที่เป็นทะลายปาล์มที่เพาะในโรงเรือน จากจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดราชบุรี พบบนวัสดุที่เป็นฟางข้าวเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรี เชื้อรานี้เจริญและสร้างเส้นใยได้เร็วบนอาหาร PDA และเร็วกว่าเชื้อเห็ดฟาง และเส้นใยสามารถคลุมทับบนเส้นใยเห็ดฟางได้ และพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในกองเพาะเห็ดฟางที่พบเชื้อมีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำเชื้อราที่พบ มาแยกเชื้อบริสุทธิ์บนอาหาร PDA ในห้องปฏิบัติการ แล้วจำแนกชนิดจากการค้นคว้าเอกสารอ้างอิงจำแนกชนิดได้เป็น เชื้อรา Papulaspora byssina เชื้อรา ชนิดนี้มีสีน้ำตาล เห็นชัดเจนบนกองวัสดุเพาะ ซึ่งการกลุ่มของเชื้อรานี้สามารถแผ่ขยายบนกองปุ๋ยหมักได้ด้วยรัศมีหลายเมตร ในช่วงเริ่มต้นเชื้อรานี้จะเจริญเป็นกลุ่มเส้นใยสีขาวแน่นทึบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเป็นผงเล็กๆ ละเอียด ลักษณะที่มองเห็นนั้นคล้ายกับฝุ่นผงสีน้ำตาลซึ่งก็คือ สปอร์กลมเล็กของเชื้อรา การศึกษาอัตราการเจริญของเชื้อราบนอาหาร PDA พบว่า เชื้อราเจริญทางเส้นใยได้ค่อนข้างเร็ว โดยเริ่มต้นเชื้อรางอกเส้นใยบางๆ สีขาวครีม และเจริญเต็มจานอาหารเลี้ยงเชื้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เซนติเมตร ในเวลา 7 วัน การศึกษาผลของเชื้อรา Papulaspora ที่มีต่อการเจริญของเส้นใยเห็ดฟาง ด้วยวิธีการ Dual Culture พบว่า เส้นใยเชื้อรา P. byssina ไอโซเลทต่างๆ มีการเจริญบนอาหาร PDA ได้รวดเร็วกว่าเส้นใยเห็ดฟาง ทำให้เจริญทับคลุมเส้นใยเห็ดฟาง และมีผลทำให้เส้นใยเห็ดฟางเจริญช้า จนถึงหยุดชะงักการเจริญ

การป้องกันกำจัดไรไข่ปลาในเห็ดหูหนูโดยการใช้การสกัดจากพืช

          ทำการทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดโดยการกลั่นจากพืช 7 ชนิด กับไรไข่ปลาบนเห็ดหูหนูทั้งในระยะก่อนท้อง และระยะท้อง ในห้องปฏิบัติการ โดยการหยดสารลงบนเม็ดข้าวฟ่างที่มีไรไข่ปลาอยู่ พบว่าสารสกัดจากการกลั่น ข่าแก่ อบเชย ตะไคร้หอม ขมิ้น ดีปลี และ บอระเพ็ด ทำให้ไรไข่ปลาตัวเต็มวัยระยะก่อนท้องตายเฉลี่ย 46.25 44.25 47.75 48.25 44.25 และ 48 ตัว จาก 50 ตัว ตามลำดับ ในณะที่น้ำเปล่าไม่ทำให้ไรไข่ปลาระยะก่อนท้องตายเลย เมื่อทดสอบกับไรไข่ปลารยะท้องพบว่า สารกลั่นทุกชนิดทำให้ไรไข่ปลาระยะท้อง ตายทั้งหมด ส่วนน้ำเปล่าไม่ทำให้ไรไข่ปลาระยะท้องตายเช่นเดียวกัน เมื่อทดสอบจุ่มก้อนเชื้อเห็ดหูหนูที่ไส่ไรไข่ปลาระยะท้อง 100 ตัว แล้วตรวจนับจำนวนไรไข่ปลาที่พบบนพื้นที่ 1 ตารางเซ็นติเมตร 4 จุด บนก้อนเชื้อ แล้วให้คะแนนตามความหนาแน่นของจำนวนไรไข่ปลาที่พบตั้งแต่ 0 - 6 คะแนน ที่ 72 ชั่วโมงหลังการจุมสาร พบว่าสารกลั่นทุกกรรมวิธี มีค่าเฉลี่ยของคะแนนเท่ากับ 0 ซึ่งน้อยกว่าและแตกต่างทางสถิติกับ น้ำเปล่าซึ่งมีค่าเฉลี่ยของคะแนนเท่ากับ 6

การทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าแมลง สารชีวินทรีย์ และสารสกัดจากพืชในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันศัตรูเห็ดที่สำคัญในเห็ด

          การทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าแมลง สารชีวินทรีย์ และสารสกัดจากพืชในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันศัตรูเห็ดที่สำคัญในเห็ด โดยดำเนินการทดลองที่โรงเพาะเห็ดของเกษตรกร อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ระหว่างเดือน เมษายน 2554 – กันยายน 2554 วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 3 ซ้ำ 7 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีพ่นสารสกัดจากสะเดา (สะเดาไทย ), สารสกัดจากขมิ้นชัน, น้ำส้มควันไม้, Diflubenzuron (Dimilin), ไส้เดือนฝอย, เชื้อแบคทีเรีย (Xentari) และกรรมวิธีไม่พ่นสารทดลอง จากผลการทดลองพบว่า Diflubenzuron (Dimilin), สารสกัดจากขมิ้นชัน, ไส้เดือนฝอย และเชื้อแบคทีเรีย (Xentari) มีประสิทธิภาพดี ในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันศัตรูเห็ด รองลงมา คือ สารสกัดจากสะเดา (สะเดาไทย ) ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความเสียหายน้อยกว่าและแตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีไม่พ่นสารทดลอง

การศึกษาชีววิทยานิเวศวิทยา และการป้องกันกำจัดด้วงเจาะเห็ดแมลงศัตรูเห็ดที่สำคัญ

          การศึกษาชีววิทยาของด้วงเจาะเห็ด Cyllodes biplagiatus ในเห็ดนางฟ้าภูฏาน Pleurotus sp. Bhutan strain โดยดำเนินการทดลองที่กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ระหว่างเดือนธันวาคม 2553 – มีนาคม 2554 ในสภาพห้องปฏิบัติการ ที่อุณหภูมิ 25 - 27 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เห็ดนางฟ้าภูฏานเป็นอาหารพบว่า ตัวเต็มวัยเพศเมียจับคู่ผสมพันธุ์เมื่อมีอายุเฉลี่ย 1 วัน โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มๆ ละ 6 - 8 ฟอง มีเปอร์เซ็นต์การฟัก 94 เปอร์เซ็นต์ ระยะไข่ใช้เวลาในการพัฒนาเฉลี่ย 34.80 ± 6.81ชั่วโมง ระยะหนอนมี 3 วัย คือ วัยที่ 1, 2 และ 3 ใช้เวลาในการพัฒนาเฉลี่ย 4.00 ± 0, 6.73 ± 0.90 และ 3.27 ± 0.45 วัน ตามลำดับ ระยะหนอนทั้งหมดมีอายุรวมเฉลี่ย 14.97 ± 0.57 วัน ระยะดักแด้มีอายุเฉลี่ย 6.77±0.63 วัน ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียมีอายุขัยเฉลี่ย 38.83 ± 3.94 วัน ด้วงมีวงจรชีวิตเฉลี่ย 62.00 ± 3.83 วัน

เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันศัตรูเห็ดสำหรับเห็ดเพาะถุง

          การศึกษาอัตราการใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อลดประชากรของแมลงวันศัตรูเห็ดในโรงเรือน ดำเนินการที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วางแผนการทดลองแบบ CRD 4 ซ้ำ 4 กรรมวิธี ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ติดกับดัก 10 อัน/โรงเรือน กรรมวิธีที่ 2 ติดกับดัก 20 อัน/โรงเรือน กรรมวิธีที่ 3 ติดกับดัก 30 อัน/โรงเรือน และกรรมวิธี 4 ไม่ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง พบว่าทุกอัตราที่ติดกับดักไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงเลือกใช้การติดกับดักกาวเหนียวสีเหลืองในอัตรา 10 กับดักต่อโรงเรือน เพื่อลดประชากรของแมลงวันศัตรูเห็ดในโรงเรือน

การใช้สารสกัดธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเซียริด (Sciarid flies) ในเห็ดสกุลนางรม

          ทำการทดลองใช้สารสกัดธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเซียริด (sciarid flies) ในเห็ดสกุล นางรมที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2555 ทดสอบทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ละครั้งทดสอบกับเห็ดสกุลนางรม 2 ชนิด คือ เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดนางฟ้าภูฏาน มีกรรมวิธีทดสอบทั้งหมด 8 กรรมวิธี ประกอบด้วย น้ำมันตะไคร้ต้น สารสกัดจากตะไคร้หอม สาบเสือ พริก ผลิตภัณฑ์การค้าชนิด 1 และ 2 และสารผสมของสาบเสือ พริกและตะไคร้หอม มีน้ำเปล่าเป็นกรรมวิธีควบคุม ประสิทธิภาพของกรรมวิธีประเมินจากค่าเปอร์เซ็นต์ความเสียหายของก้อนเชื้อที่ถูกแมลงทำลายและตัวแก่ของแมลงวันบนกับดักกาวเหนียว ผลการทดลองพบว่า มีความแตกต่างในการระบาดของชนิดแมลงวันในการทดลองแต่ละครั้ง การทดลองครั้งที่ 1 ชนิด แมลงวันที่พบมากบนกับดักกาวเหนียว คือ แมลงวันเซียริด (Lycoriella sp.) แต่ในการทดลองครั้งที่ 2 ชนิด แมลงวันที่ระบาด คือ แมลงวันฟอริด (Megaselia sp.) เห็ดนางฟ้าภูฏานมีเปอร์เซ็นต์การถูกทำลายด้วยหนอนแมลงวันสูงกว่าเห็ดนางรมฮังการีทั้งสองการทดลอง โดยในการทดลองครั้งที่สองมีเปอร์เซ็นต์การถูกทำลายมากกว่าการทดลองครั้งที่ 1 สารสกัดธรรมชาติที่มีแนวโน้มต่อการลดปริมาณแมลงวัน คือ  สารสกัดจากพริก โดยในกรรมวิธีที่พ่นด้วยสารสกัดจากพริกพบการเข้าทำลายจากหนอนแมลงวันน้อยที่สุดจากการทดลองทั้งสองครั้ง ในแง่ผลผลิตพบว่า ผลผลิตต่อก้อนของเห็ดนางฟ้าภูฏานจะน้อยกว่าเห็ดนางรมฮังการีในทั้งสองการทดลอง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นลักษณะประจำพันธุ์ นอกจากนั้นเห็ดนางฟ้าภูฏานยังถูกทำลายจากหนอนแมลงวันมากกว่าเห็ดนางรมฮังการีอีกด้วย

การแก้ปัญหาแมลงศัตรูเห็ดในโรงเพาะเห็ดของเกษตรกรในเขตภาคกลาง

          การแก้ปัญหาแมลงศัตรูเห็ด ในเขตภาคกลาง ดำเนินการทดลองที่โรงเพาะเห็ดของเกษตรกร อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ระหว่างเดือนธันวาคม 2555 – มิถุนายน 2556 จากผลการทดลองพบว่า โรงเรือนทดสอบให้ผลผลิตเห็ด มากกว่าและมีเปอร์เซ็นต์ความเสียหายของก้อนเชื้อน้อยกว่าโรงเรือนเกษตรกรเปรียบเทียบ และจากการเก็บผลผลิตรวมเฉลี่ยพบว่า กรรมวิธีทดลองให้ผลผลิตมีน้ำหนักรวมเฉลี่ย 464 กิโลกรัมต่อ 2000 ก้อน มากกว่ากรรมวิธีของเกษตรกรซึ่งมีน้ำหนักผลผลิตรวมเฉลี่ยมากกว่ากรรมวิธีของเกษตรเปรียบเทียบ 2.49 เท่า

การบริหารจัดการศัตรูเห็ดโดยวิธีผสมผสาน

          ทำการเปรียบเทียบการจัดการโรงเพาะเห็ด 2 วิธีการ คือ 1 วิธีการบริหารศัตรูเห็ดกับ 2 วิธีการของเกษตรกร ในโรงเรือนเพาะเห็ดนางรมเกษตรกร จำนวน 2 โรงเรือน ที่จังหวัดราชบุรี เริ่มต้นตุลาคม 2555 ถึงกันยายน 2558 พบว่าการทดสอบในปี 2556 และ 2557 ทั้ง 2 กรรมวิธี ให้ผลผลิต และผลตอบแทนแตกต่างกันน้อยมาก เนื่องจากมีการจัดการแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เพราะเกษตรกรทำการจัดการโรงเพาะเห็ดเลียนแบบการจัดการศัตรูเห็ดโดยในปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายพบว่า วิธีบริหารศัตรูเห็ดและวิธีเกษตรกร ให้ผลตอบแทนการลงทุน 1.226 และ 1.187 เท่า ปี 2557 วิธีบริหารศัตรูเห็ดและวิธีเกษตรกร ให้ผลตอบแทนการลงทุน 1.205 และ 1.148 เท่า ส่วนในปี 2558 กรรมวิธีบริหารศัตรูเห็ดให้ผลผลิต และผลตอบแทนสูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายพบว่า วิธีบริหารศัตรูเห็ดและวิธีเกษตรกรให้ผลตอบแทนการลงทุน 1.291 และ 1.140 เท่า ตามลำดับ

ผลของอุณหภูมิที่มีต่อการเจริญเติบโต และการมีชีวิตอยู่รอดของไรไข่ปลา
          ทำการทดสอบผลของอุณหภูมิที่มีต่อการเจริญเติบโตของไรไข่ปลา และผลของอุณภูมิที่มีต่อการมีชีวิตรอดของไรไข่ปลา วางแผนการทดลองแบบ CRD 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี คือ อุณหภูมิ 20, 25, 30, 35, 40, 45 องศาเซลเซียส นำไรไข่ปลาจำนวน 5 ตัวต่อจาน นำไปไว้ที่อุณหภูมิต่างๆ แล้วนำมาตรวจนับจำนวนไรที่ตั้งท้อง และจำนวนไรที่ออกจากท้องพบว่า ที่อุณหภูมิ 20 และ 25 องศาเซลเซียส ไรไข่ปลามีจำนวนไรที่ตั้งท้อง และมีจำนวนไรที่ออกจากท้อง มากกว่าที่อุณหภูมิอื่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนผลของอุณหภูมิที่มีต่อการมีชีวิตรอดของไรไข่ปลาพบว่า ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส มีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูงสุดที่ 100 และที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส มีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดเท่ากับ 85.18 แตกต่างทางสถิติกับที่อุณหภูมิ 30 35 40 และ 45 องศาเซลเซียส ที่มีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดเท่ากับ 38.47 34.13 28.37 และ 16.94 ตามลำดับ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 30 องศาเซลเซียส มีผลต่อการเจริญเติบโตและเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของไรไข่ปลาลดลง

การศึกษาความผันแปรจำนวนประชากรไรขาวใหญ่ในเห็ดหูหนู

          ทำการสำรวจความผันแปรจำนวนประชากรไรขาวใหญ่ ในฟาร์มเห็ดที่เพาะเห็ดหูหนูในอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 - กันยายน 2556 สุ่มเลือกก้อนเชื้อเห็ดหูหนู จำนวน 20 ก้อน นำใส่ถุงพลาสติก นำมาตรวจนับจำนวนไรขาวใหญ่ โดยตัดถุงพลาสติกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 1 x 1 ตร.ซม. ก้อนละ 4 จุด โดยตรวจนับใต้กล้องจุลทรรศน์แบบ stereomicroscope ทำการสำรวจทุกเดือนตลอดการทดลอง พบว่าในช่วงเดือน พฤษภาคม และเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะพบไรขาวใหญ่เป็นปริมาณปานกลางเฉลี่ย 166 - 182 ตัว/ตารางเซนติเมตร ในช่วงปีแรก ส่วนในปีต่อมาพบไรขาวใหญ่ลดลงเฉลี่ย 5.18 - 11.79 ตัว/ตารางเซนติเมตร



ไฟล์แนบ
.pdf   117_2558.pdf (ขนาด: 1.09 MB / ดาวน์โหลด: 1,646)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม