แผนงานวิจัยปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ส้มเปลือกล่อน
#1
แผนงานวิจัยปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ส้มเปลือกล่อน
ทรงพล สมศรี, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, มณทิรา ภูติวรนาถ, พันธ์ศักดิ์ แก่นหอม, สุทธินี เจริญคิด, ประนอม ใจอ้าย, คณิศร มนุษย์สม, สากล มีสุข, รณรงค์ คนชม, วิภาดา แสงสร้อย และวีระ วรปิติรังสี

          โครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ส้มเปลือกล่อน ประกอบด้วย 6 การทดลอง ดำเนินการโดย สำนักผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ น่าน เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศรีสะเกษ และศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 ผลการทดลองสรุปได้ดังนี้

          การสำรวจและรวบรวมสายต้นส้มเขียวหวาน สายน้ำผึ้งและส้มต่างๆ ในเขตจังหวัดสุโขทัย แพร่ และน่าน พบว่าสามารถรวบรวมสายต้นที่ทนทานต่อโรคกรีนนิ่งในสภาพธรรมชาติได้ 1 พันธุ์ คือ ส้มเขียวหวานจากจังหวัดสุโขทัย อายุ 28 ปี จำนวน 6 สายต้น จังหวัดน่าน 2 สายต้น ส่วนจังหวัดแพร่ ไม่ได้สายต้นทนโรค นอกจากนี้ยังรวบรวมพันธุ์ส้มเปลือกล่อนที่ทนทานโรคกรีนนิ่งในพื้นที่ระบาดของโรคได้ 18 สายต้น เป็นส้มเขียวหวาน 11 สายต้น ส้มสายน้ำผึ้ง 7 สายต้น ได้ขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดไปทดสอบปลูกที่ ศวพ.แพร่ ศวส.เชียงราย และศวส.ศรีสะเกษ และยังทำการคัดเลือกสายต้นส้มเขียวหวาน สายน้ำผึ้งและส้มต่างๆ ในเขต จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ เชียงราย และน่าน ได้สายต้นทนทาน 12 สายต้น และนำไปปลูกทดสอบที่ ศวพ.น่าน

          การผสมพันธุ์ส้มเปลือกล่อนระหว่างส้มส้มเขียวหวานและสายน้ำผึ้งกับส้มพันธุ์แป้นและลาดู ได้ลูกผสมที่ทนทานต่อโรคกรีนนิ่งจำนวน 6 ต้น ประกอบด้วยลูกผสมแป้น x เขียวหวาน 3 ต้น และแป้น x สายน้ำผึ้ง 3 ต้น นำแต่ละต้นของทั้ง 2 คู่ผสม ไปขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอดบนต้นตอ Volkameriana แล้วปลูกในแปลง ศวพ.น่าน วางแผนการทดลองแบบ RCB 9 วิธีการ (2 คู่ผสม รวม 6 สายต้น) 3 ซ้ำๆ ละ 2 ต้น และมีพันธุ์เปรียบเทียบ 3 พันธุ์ ( แป้น เขียวหวานและสายน้ำผึ้ง ) พบว่าสายต้นแป้น x สายน้ำผึ้ง # 3 และ แป้น x เขียงหวาน # 4 อายุ 4 ปี พบอาการโรคกรีนนิ่งน้อยมาก แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากอาจเกิดจากการใช้ต้นตอไม่เหมาะสม

          สำหรับการศึกษาการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ส้มต่างๆ โดยการฉายรังสีให้ได้พันธุ์ส้มที่มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ด ได้ทำการเพาะเมล็ดส้มต่างๆ ในสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชักนำให้เกิดยอดแล้วทำการขยาย subculture เพิ่มปริมาณแล้วนำไปฉายรังสี ปริมาณต่างๆ แล้วทำการ subculture จาก M1V1 ถึง M1V4 จำนวน 12 ชนิด/พันธุ์ ซึ่งจะได้นำออกจากขวดไปปลูก และคัดเลือกให้ได้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

          การทดสอบสายต้นสายน้ำผึ้ง/ส้มโชกุน ไม่มีเมล็ดที่ได้จากการฉายรังสี ได้ดำเนินการที่ ศวพ.แพร่ และศวพ.เชียงใหม่ จำนวน 15 สายต้น โดยวางแผนแบบ RCB 15 กรรมวิธี 3 ซ้ำ โดยปลูก 4 ต้นต่อซ้ำ หลังจาก 4 ปี พบว่า 5 สายต้น มีเมล็ดน้อยกว่า 5 เมล็ด โดยสายต้น A4V3-22-2 มีจำนวนเมล็ดน้อยสุด 0.73 เมล็ดและให้ผลผลิตมากที่สุด 221.42 ผลต่อต้น และกำลังเสนอเป็นพันธุ์แนะนำชื่อว่า “พันธุ์แพร่ 1”

          สำหรับการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชสกุลส้มและส้มชนิดต่างๆ ได้นำเมล็ดมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสภาพต่างๆ และสามารถเก็บรักษาได้ 16 ชนิด/พันธุ์ จำนวน 542 ขวด 1,349 ต้น ซึ่งจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการต่างๆ ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   109_2558.pdf (ขนาด: 1.78 MB / ดาวน์โหลด: 4,546)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม