โครงการวิจัยและพัฒนาอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมกล้วยไม้เพื่อใช้ประโยชน์
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมกล้วยไม้เพื่อใช้ประโยชน์
พฤกษ์ คงสวัสดิ์ และคณะ

          โครงการวิจัยอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมกล้วยไม้เพื่อใช้ประโยชน์ประกอบด้วย 6 กิจกรรมวิจัย 8 การทดลอง ใน 11 ศูนย์วิจัยกับ 2 สำนักทั่วประเทศไทยของกรมวิชาการเกษตร ดำเนินงานปี 2554 - 2558 มีจุดประสงค์หลัก 2 ด้าน คือ จุดประสงค์ที่ 1 ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมกล้วยไม้ทั้งสภาพนอกสภาพห้องปฏิบัติการ (กิจกรรมวิจัยที่ 1 2 และ5) และสภาพในห้องปฏิบัติการ (กิจกรรมวิจัยที่ 6) เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และจุดประสงค์ที่ 2 ศึกษาวิจัยตามกฎหมายด้านอนุรักษ์ของกรมวิชาการเกษตร เน้นศึกษาวิจัยเพื่อรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าตามกฎหมายอนุรักษ์พันธุ์พืชที่เกี่ยวกับกรมวิชาการเกษตร 2 ฉบับ คือ 1. พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ 2. อนุสัญญาไซเตส พ.ศ. 2526 มี 2 กิจกรรมวิจัย (กิจกรรมวิจัยที่ 3 และ 4)

          พบว่า จุดประสงค์ที่ 1 (กิจกรรมวิจัยที่ 1) รวบรวมกล้วยไม้ศักยภาพได้ 15 สกุล จำนวน 9,275 ต้น และชนิดอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 64 สกุล 206 ชนิด 1,974 ต้น และคัดเลือกสายต้นดีเด่นไม่น้อยกว่า 200 เบอร์ พร้อมฐานข้อมูลประจำสายพันธุ์สายต้นสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต (กิจกรรมวิจัยที่ 2) อนุรักษ์กล้วยไม้ป่าอย่างยั่งยืนบนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพิ่มจำนวนหวายแดงจันทบูร (Renanthera coccinea) มากกว่า 5,000 ต้น และเหลืองจันทบูร (Dendrobium friedericksianum) มากกว่า 10,000 ต้น และไม่มีการนำต้นกล้วยไม้ดังกล่าวออกจากป่าอีก (กิจกรรมที่ 5) พบกล้วยไม้ป่า 17 สกุล 33 ชนิด ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล และเพิ่มปริมาณกล้วยไม้สามปอยขุนตาล (Vanda denisoniana)จำนวน 2,000 ต้น คืนสู่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล (กิจกรรมวิจัยที่ 6) ทราบอาหารเพาะเมล็ดสามปอยขุนตานและสามปอยหางปลา และอาหารเพาะเลี้ยงตายอด/ตาข้างของฟ้ามุ่ย อาหารเพิ่มปริมาณโปรโตคอมของสามปอยขุนตาน และฟ้ามุ่ย และอาหารพัฒนาเป็นต้นอ่อนของสามปอยขุนตานและฟ้ามุ่ย และได้วิธีเก็บรักษาโปรโตคอมสามปอยขุนตาน และฟ้ามุ่ย โดยวิธี Encapsulation – Dehydration ดีที่สุด คือ ใช้แช่ mannitol 2% นาน 1 - 2 ชั่วโมง และการเก็บรักษาใน liquid nitrogen (Ln) นาน 1 ชั่วโมง ร่วมกับการ preculture ด้วย mannitol ความเข้มข้น 6% (w/v) นาน 3 และ 4 ชั่วโมง และที่ระดับความเข้มข้น 8% (w/v) นาน 4 ชั่วโมง และการเก็บรักษาโปรโตคอมสามปอยขุนตาน และฟ้ามุ่ย โดยวิธี Vitrification พบว่าสามปอยขุนตาน การใช้ PVS3 แช่นาน 20 - 60 นาที และฟ้ามุ่ย การใช้ PVS3 แช่นาน 40 นาที ก่อนนำไปเก็บในไนโตรเจนเหลวดีที่สุด

          จุดประสงค์ที่ 2 พบว่า (กิจกรรมวิจัยที่ 3) สรุปได้ว่ากล้วยไม้ฟ้ามุ่ยน้อยอยู่ในภาวะสูญพันธุ์จากแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ (Extinct in the Wild (EW)) ในปี 2555 พบในธรรมชาติเพียง 1 แห่ง, มีส่งออกกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยน้อย 2,254 ต้น, สถานที่เพาะเลี้ยง 36 ราย มีพ่อแม่พันธุ์ 253 ต้น และปลูกเลี้ยงเป็นการค้า 5,114 ต้น โดยส่วนใหญ่นิยมการเพาะเมล็ดจากฝัก การค้าในประเทศพบในตลาดนัดในภาคเหนือและในอินเตอร์เน็ตแต่พบจำนวนไม่มาก การค้านอกประเทศมีผู้ส่งออก 11 ราย ส่งออกสูงสุดในปี 2550 จำนวน 452 ต้น แต่มีการเพาะเลี้ยงโดยการขยายพันธุ์เทียมแล้วแต่มีปริมาณน้อยอยู่ (กิจกรรมวิจัยที่ 4) ได้ไพรเมอร์จำนวน 25 คู่ที่แสดงผลของความแตกต่างทางพันธุกรรมจำนวน 1 - 3 อัลลีล ในกล้วยไม้สกุลแวนดา สำหรับการตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอกล้วยไม้สกุลแวนดา และใช้กับกล้วยไม้สกุลใกล้เคียงกับสกุลแวนดาได้

          ข้อเสนอแนะ การวิจัยนี้ใช้เวลาเพียงสั้นๆ ได้เพียงแนวทางสำหรับให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้นำไปปรับใช้ และยังมีประเด็นต้องนำไปวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งนี้เพื่อคงพันธุกรรมกล้วยไม้ป่าสู่ลูกหลานไทยในอนาคต


ไฟล์แนบ
.pdf   97_2558.pdf (ขนาด: 7.12 MB / ดาวน์โหลด: 2,767)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม