11-18-2016, 09:23 AM
การวิจัยและพัฒนาข้าวฟ่าง
ประพันธ์ ประเสริฐศักดิ์, ดารารัตน์ มณีจันทร์, ศิริวรรณ อำพันฉาย, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, เชาวนาถ พฤธิเทพ, อนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ และพจนา ตระกูลสุขรัตน์
ประพันธ์ ประเสริฐศักดิ์, ดารารัตน์ มณีจันทร์, ศิริวรรณ อำพันฉาย, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, เชาวนาถ พฤธิเทพ, อนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ และพจนา ตระกูลสุขรัตน์
การทดสอบพันธุ์ข้าวฟ่างหวานลูกผสม จำนวน 7 คู่ผสม (UT1 x Wray), (Wray x SP1), (Wray x UT1040B), (Wray x BJ281), (Wray x Thesis), (Cowley x BJ281), (Wray x Cowley) ในปี 2555 ทำการปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 1 ในฤดูแล้ง และปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 2 ในฤดูฝน และในปี 2556 ปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 3 ในฤดูแล้ง ปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 4 ในฤดูฝน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี โดยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่มีลักษณะที่ดี 15 สายพันธุ์ จึงนำไปทำการเปรียบเทียบเบื้องต้นในปี 2557 - 2558 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์ โดยเปรียบเทียบกับพันธุ์ Wray Keller และ Cowley พบความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญในด้านความสูง เส้นผ่านศูนย์กลางลำ น้ำหนักต้นสด ปริมาณน้ำคั้น และน้ำหนักเมล็ด ซึ่งพบความดีเด่นใกล้เคียงหรือสูงกว่าสายพันธุ์เปรียบเทียบ สำหรับการศึกษาการทดลองเปรียบเทียบปฏิกิริยาข้าวฟ่างหวานจำนวน 33 พันธุ์/สายพันธุ์ และข้าวฟ่างไม้กวาดจำนวน 1 พันธุ์ต่อโรคลำต้นเน่าดำที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina ในสภาพเรือนปลูกพืชทดลอง ทำการปลูกเชื้อบริเวณโคนต้นข้าวฟ่างหวานอายุ 60 วัน โดยใช้วิธี Tooth-picked method ผลการทดลองพบว่า ข้าวฟ่างหวานและข้าวฟ่างไม้กวาดมีดัชนีการเกิดโรคแตกต่างกัน และไม่พบพันธุ์/สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคลำต้นเน่าดำ สำหรับการศึกษาข้อมูลจำเพาะของข้าวฟ่างหวาน จากการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตข้าวฟ่างหวาน ในแต่ละสภาพปลูก จากการปลูกข้าวฟ่างหวาน 3 พันธุ์ (Wray Cowley Suwan และ Sweet Extra) ที่ระยะปลูกต่างๆ พบว่าพันธุ์และระยะปลูกไม่มีปฏิสัมพันุ์กันทางสติติ โดยให้ผลผลิตต้นสดเฉลี่ยระหว่าง 6.55 - 7.55 ตันต่อไร่ พันธุ์ Cowley ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ Suwan Sweet Extra และ Wray การปลูกข้าวฟ่างหวานที่ระยะ 75 x 15 ซม. ให้ขนาดลำต้นเฉลี่ยสูงกว่าการปลูกที่ระยะปลูก 60 x 10 ซม. และ 75 x 10 ซม. ในขณะที่การศึกษาการใช้ประโยชน์จากข้าวฟ่างหวานและผลพลอยได้นั้นพบว่า ข้าวฟ่างหวานที่ทำการศึกษา คือ Wray Cowley Suwan และ Sweet Extra มีศักยภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเอทานอลได้ทั้งในรูปน้ำคั้นสดและการทำน้ำเชื่อม ซึ่งในรูปน้ำเชื่อมควรเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างหวานในระยะเมล็ดเป็นแป้งแข็งและระยะเมล็ดสุกแก่ทางสรีรวิทยาซึ่งจะให้ค่าความเข้มข้นเอทานอลสูงเมื่อนำไปเข้าสู่ขบวนการหมักเอทานอล เช่นเดียวกับการนำชานข้าวฟ่างหวานซึ่งมีปริมาณ cellulose และ hemi-cellulose ในขณะที่การนำชานข้าวฟ่างหวานเพื่อเลี้ยงสัตว์ ในช่วงเวลาอาหารสัตว์ขาดแคลนซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือจากการคั้นน้ำสามารถใช้พันธุ์ Wray และพันธุ์ Cowley โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งระยะเมล็ดเป็นแป้งแข็ง ระยะเมล็ดสุกแก่ทางสรีระวิทยา (pm) และระยะหลัง pm 10 วัน เนื่องจากมีผลผลิตชานแห้งและปริมาณโปรตีนสูง การทดสอบการควบคุมโรคลำต้นเน่าดำที่เกิดจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina ในข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Wray ในสภาพโรงเรือนทดลองพบว่า การคลุกดินก่อนปลูกด้วยเชื้อรา T. harzianum ให้ผลการควบคุมโรคลำต้นเน่าดำดีที่สุดโดยมีความยาวแผลที่ลำต้นเฉลี่ย 54.0 เซนติเมตร อีกทั้งยังให้ผลผลิต และปริมาณน้ำคั้นดีที่สุด คือ 667 กรัมต่อต้น และ 204 มิลลิลิตรต่อต้น ตามลำดับ ในขณะที่การศึกษาการใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทุิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่างในข้าวฟ่างหวานพันธุ์ way ปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรีในปี 2555 - 2556 พบว่าสามารถใช้สารฆ่าแมลงโพรไทโอฟอส (โตกุไธออน 50 % EC) อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร และอิมาเม็กตินเบนโซเอต (โปรเคลม 1.92% EC) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร โดยมีประสิทุิภาพใกล้เคียงกับสารฆ่าแมลงคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20 % EC) อัตรา 100 มล./น้ำ 20 ลิตร ซึ่งเป็นสารฆ่าแมลงที่แนะนำให้ใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่าง และจากการทดสอบพันธุ์ข้าวฟ่างหวาน 5 พันธุ์ คือ Cowley, Keller, Wray, BJ281 และ BJ248 ในแปลงใหญ่ ดำเนินการในพื้นที่ไร่เกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ในฤดูแล้งปี 2554 - 2555 พบว่าข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Wray เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่ไร่เขตใช้น้ำฝนภาคเหนือตอนลำง ในขณะที่ข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Cowley เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล ทั้งนี้เนื่องจากให้น้ำหนักต้นสด และค่าความหวานสูง ส่วนการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตข้าวฟ่างหวานที่เหมาะสม สำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาเขตภาคเหนือตอนล่างพบว่า อัตราปลูก 26,666 ต้นต่อไร่ ร่วมกับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ และอัตราปลูก 26,666 ต้นต่อไร่ร่วมกับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นวิธีการที่ให้น้ำหนักต้นสดสูงสุด เมื่อวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ผลปรากฏว่า อัตราปลูก 26,666 ต้นต่อไร่ร่วมกับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล ทั้งนี้เนื่องจากให้น้ำหนักต้นสดและค่าความหวานสูง