โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้ง
#1
โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้ง  
สุริพัฒน์ ไทยเทศ, พิเชษฐ์ กรุดลอยมา, สุทัศนีย์ วงศ์ศุปไทย, ทัศนีย์ บุตรทอง, จำนงค์ ชัญถาวร, อมรา ไตรศิริ, ชนันทวัฒน์ ศุภสุทธิรางกูล, กัญจน์ชญา ตัดโส, อานนท์ มลิพันธุ์, อารีรัตน์ พระเพชร, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, ปรีชา แสงโสดา, พินิจ กัลยาศิลปิน, นิภาภรณ์ พรรณรา, สายชล แสงแก้ว, สิทธิ์ แดงประดับ, กฤษณา ทวีศักดิ์วิชิตชัย, วลัยพร ศะศิประภา, สาธิต อารีรักษ์, พณัญญา พบสุข และปาริชาติ นนทสิงห์ 

          โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้ง ประกอบด้วยกิจกรรม การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งอายุยาว มีอายุเก็บเกี่ยวที่ 115 - 120 วัน การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งอายุสั้นมีอายุเก็บเกี่ยวที่ 95 - 100 วัน การวิจัยลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนทานแล้ง และการศึกษาจำแนกและประเมินคุณค่าเชื้อพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมอายุเก็บเกี่ยวยาวและอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและทนทานแล้ง 2) เพื่อทราบลักษณะทางสรีรวิทยาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับความทนทานแล้ง 3) เพื่อประเมินเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และลักษณะทางการเกษตร ในกิจกรรมปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งอายุยาว ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 - 2558 มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมอายุยาวหลายพันธุ์ได้ผ่านการประเมินผลผลิตตามขั้นตอนต่างๆ ในแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญของประเทศไทย และได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมอายุยาว พันธุ์ดีเด่น NSX042022 ให้ผลผลิตสูง 1,188 กิโลกรัมต่อไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์นครสวรรค์ 3 ซึ่งใช้เป็นพันธุ์เปรียบเทียบมาตรฐาน มีลักษณะเด่นคือ มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 756 กิโลกรัมต่อไร่ (คิดเป็นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับแปลงที่ได้รับน้ำสม่ำเสมอ) มีลักษณะทางการเกษตรดี และปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งปลูกที่สำคัญไทย สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งอายุสั้น มีการพัฒนาพันธุ์จนสามารถคัดเลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ดีเด่น NSX052014 ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,176 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 3 ร้อยละ 9 และในสภาพขาดน้ำในระยะออกไหมให้ผลผลิต 720 กก./ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับแปลงที่ได้รับน้ำสม่ำเสมอ) NSX052014 มีอายุวันออกไหม และวันออกดอกตัวผู้เฉลี่ย 53 และ 52 วัน สั้นกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 3 ในด้านเสถียรภาพผลผลิต NSX052014 ให้ผลผลผลิตสูงในสภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการดี จึงเหมาะสำหรับแนะนำเป็นพันธุ์เฉพาะพื้นที่ ขณะนี้พันธุ์ NSX042022 และ NSX052014 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการเสนอขอรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้การพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่มีศักยภาพที่จะแนะนำส่งเสริมแก่เกษตรกรในอนาคต อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนกิจกรรมการวิจัยลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนทานแล้งพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตกับลักษณะทางสรีรวิทยาในสภาพขาดน้ำในระยะออกไหม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนฝักต่อต้น น้ำหนัก 100 เมล็ด ความกว้างฝัก ความยาวฝัก การปิดเปิดปากใบ ความเข้มสีเขียวของใบ และดัชนีพืชพรรณ (NDVI)แต่มีความสัมพันธ์ทางลบกับช่วงห่างระหว่างอายุวันออกไหมและวันออกดอกตัวผู้ คะแนนการแก่ของใบ คะแนนการม้วนของใบ ด้านการจำแนกและประเมินคุณค่าเชื้อพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่ละสายพันธุ์/พันธุ์มีลักษณะประจำพันธุ์แตกต่างกัน ซึ่งข้อมูลที่ได้เหล่านี้จะใช้เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์


ไฟล์แนบ
.pdf   53_2558.pdf (ขนาด: 871.37 KB / ดาวน์โหลด: 6,178)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม