10-06-2016, 01:47 PM
โครงการวิจัยทดสอบและขยายผลเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเงาะคุณภาพ
จรีรัตน์ มีพืชน์, หฤทัย แก่นลา, สาลี่ ชินสถิต, ชูชาติ วัฒนวรรณ, รัตยา เกตุมาโร, ศรีนวล สุราษฎร์, สุเมธ พากเพียร, นพดล แดงพวง, โอภาส จันทสุข และนิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสถาบันวิจัยพืชสวน
จรีรัตน์ มีพืชน์, หฤทัย แก่นลา, สาลี่ ชินสถิต, ชูชาติ วัฒนวรรณ, รัตยา เกตุมาโร, ศรีนวล สุราษฎร์, สุเมธ พากเพียร, นพดล แดงพวง, โอภาส จันทสุข และนิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสถาบันวิจัยพืชสวน
การทดสอบและขยายผลเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเงาะคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลงานวิจัยที่สามารถขยายผลสู่เกษตรกรได้ ขยายผลสู่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในการผลิตเงาะคุณภาพ ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2555 ในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดตราด มีเกษตรกรร่วมดำเนินการจำนวน 10 รายๆ ละ 4 ไร่ รวมพื้นที่ 40 ไร่ แบ่งกรรมวิธีการทดสอบออกเป็น 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีแนะนำและกรรมวิธีเกษตรกร กรรมวิธีแนะนำเป็นการใช้/ปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับเงาะ (GAPเงาะ) ส่วนกรรมวิธีเกษตรกรคือวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิม ผลการดำเนินงานพบว่า กรรมวิธีแนะนำทำให้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางการตลาดรวมเฉลี่ยสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรโดยกรรมวิธีแนะนำให้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางการตลาดเฉลี่ย 3,304 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่กรรมวิธีเกษตรกรให้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางการตลาดเฉลี่ย 2,930 กิโลกรัมต่อไร่ กรรมวิธีแนะนำให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรร้อยละ 12.76 และมีจำนวนผลผลิตตกเกรดหรือด้อยคุณภาพน้อยกว่ากรรมวิธีเกษตรกรร้อยละ 6
จากการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า กรรมวิธีแนะนำมีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยต่อไร่เป็น 18,732 บาท ขณะที่กรรมวิธีเกษตรกรมีต้นทุนผันแปรเฉลี่ยต่อไร่เป็น 17,943 บาท กรรมวิธีแนะนำให้ผลตอบแทน 24,072 บาทต่อไร่ สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรซึ่งมีผลตอบแทน 21,201 บาทต่อไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 13.54 สำหรับอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุนซึ่งหมายถึง รายได้/ต้นทุน (BCR ) พบว่า กรรมวิธีแนะนำมี BCR เท่ากับ 2.29 ส่วนกรรมวิธีเกษตรกรมี BCR เท่ากับ 2.18 ทั้งสองกรรมวิธีมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย