การพัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง
#1
การพัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง
สุกิจ  รัตนศรีวงษ์, เบญจมาศ คำสืบ, วีระชัย จุนขุนทด, ขนิษฐา ก๋าคำมูล, สุพจน์ เชียงราย และอินทิรา เยื่องจันทึก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา

          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมาได้พัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับเกษตรกรโดยการนำกระบวนการที่เรียกว่า “สีคิ้วโมเดล” ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังตามบทบาท ภารกิจ และหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอสำหรับใช้ภายในประเทศ และส่งออก เนื่องจากศูนย์ฯ ตั้งอยู่ในแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 1.9 ล้านไร่ จึงได้เริ่มดำเนินการพัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังเป็นพืชแรก โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ 1.การจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังเฉพาะพื้นที่ 2.การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง เช่น การอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต การฝึกปฏิบัติจริง และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกรคนเก่ง และเกษตรกรเครือข่าย  และ 3.เกษตรกรที่ได้รับความรู้นำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อให้เป็นแปลงต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกรเหล่านั้นต่อไป และ 4.สำนักงานเกษตรจังหวัด (กรมส่งเสริมการเกษตร) นำเกษตรกรมาศึกษาดูงานแปลงต้นแบบดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรแปลงต้นแบบได้ถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรที่มาดูงาน หากเกษตรกรสนใจเทคโนโลยีใดก็นำเทคโนโลยีนั้นไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ดำเนินงานใน 1)โครงการต้นแบบนำเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งสู่เครือข่ายเกษตรกร เกษตรกรต้นแบบจำนวน 40 ราย พื้นที่ 200 ไร่  2)โครงการนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน ตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรต้นแบบจำนวน 13 ราย พื้นที่ 62 ไร่ และ 3)โครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ อำเภอสีคิ้ว เกษตรกรต้นแบบจำนวน 12 ราย (ตำบล) พื้นที่ 120 ไร่ จากการนำกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว เทคโนโลยีได้ถูกนำมาทดสอบและปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตมันสำปะหลังตามสภาพภูมิสังคมที่เกษตรกร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังได้รับผลกระทบทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องระบบการผลิตมันสำปะหลังให้แก่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างกว้างขวางรวดเร็ว และเป็นการขับเคลื่อนโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนของต้นน้ำ (การผลิต) กลางน้ำ (การแปรรูป) และปลายน้ำ (การส่งออก) จึงเกิดการขยายผลโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่สามารถเพิ่มจำนวนแปลงต้นแบบการผลิตให้ครอบคลุมแหล่งปลูกมันสำปะหลังของจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ในปี 2554-55 มีแปลงต้นแบบการผลิตมันสำปะหลังรวมทั้งสิ้น จำนวน 147 ราย พื้นที่ 1,081 ไร่ แบ่งเป็น การจัดการปุ๋ย 101 ราย พื้นที่ 797 ไร่ การจัดการน้ำ 15 ราย พื้นที่ 15 ไร่ การจัดการดินดาน 26 ราย พื้นที่ 269 ไร่ ถือเป็นกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไปยังเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีมีความเหมาะสมกับพื้นที่เป็นที่ยอมรับ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการผลิต และช่วยยกระดับผลผลิตพืชนำมาซึ่งรายได้และผลตอบแทนให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน


ไฟล์แนบ
.pdf   1858_2554.pdf (ขนาด: 1.41 MB / ดาวน์โหลด: 948)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม