การพัฒนาเทคนิค Real-time PCR ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GMและผลิตภัณฑ์อาหาร
#1
การพัฒนาเทคนิค Real-time PCR ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GM และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป
ขนิษฐา วงศ์วัฒนารัตน์, อัญชลี ศรีสุวรรณ และกิตติศักดิ์ กีรติยะอังกูร
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ และสำนักผู้เชี่ยวชาญ

          การพัฒนาเทคนิค Real-time PCR ในการตรวจสอบการปนถั่วเหลือง GM และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปได้ทดลองเปรียบเทียบวิธีการสกัด DNA กับเมล็ด กากถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 4 วิธีคือ guanidinium-chloroform, GeneScan extractionn, Silica based DNA extraction และ PVP based DNA extraction หลังจากได้ DNA แบ่ง DNA ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ไม่ทำ DNA ให้บริสุทธิ์ กลุ่มที่ 2 ทำ DNA ให้บริสุทธิ์ โดยใช้ Wizard® Miniprep DNA Purification Kit วัดผลโดยตรวจคุณภาพของยีน lectin ด้วยวิธี PCR เพื่อดูการยับยั้งปฏิกิริยา PCR ของ DNA ผลการทดลองพบว่า วิธีสกัด DNA ที่เหมาะสมกับเมล็ดและกากถั่วเหลือง คือ วิธี guanidinium-chloroform และผ่านการทำ DNA ให้บริสุทธิ์เป็นวิธีที่ดีที่สุดเทียบเท่ากับวิธี GeneScan extraction และผ่านการทำ DNA  ให้บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปผลการทดลองพบว่าวิธีการสกัด DNA ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขบวนการแปรรูปที่แตกต่างกัน การตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GM ด้วยวิธี Real-time PCR โดยออกแบบและสังเคราะห์คู่ primers และ probe จำนวน 2 ชุด นำมาศึกษาประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณยีน Roundup Ready และ lectin ด้วยวิธี Real-time PCR พบว่าคู่ primers sttmf3a/sttm2a และ probe Sttmpa สามารถเพิ่มปริมาณยีน Roundup Ready ส่วน CP4 EPSPS ขนาด 145 bp และคู่ primers sltm1/sltm2 และ probe Sltmp เพิ่มปริมาณยีน lectin ขนาด 81 bp ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับค่า log ของความเข้มข้นของ DNA และสามารถตรวจปริมาณการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GM ได้ในปริมาณต่ำสุดถึง 0.1% การสำรวจปริมาณการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GM โดยสุ่มตัวอย่างเมล็ดและกากถั่วเหลืองจำนวน 316 ตัวอย่าง และสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจำนวน 136 ตัวอย่าง นำมาสกัด DNA และตรวจการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GM เบื้องต้นด้วยวิธี PCR โดยตรวจหายีน 35S CaMV promoter และ Nos terminator แล้วนำ DNA ที่ตรวจพบยีนทั้งสองมาตรวจหาปริมาณด้วยวิธี Real-time PCR พบว่า มีการปนเปื้อนของถั่วเหลือง GM ในเมล็ดและกากถั่วเหลือง จำนวน 47 ตัวอย่าง โดยเป็นถั่วเหลืองนำเข้าทั้งหมด ซึ่งนำเข้าจากประเทศอาร์เจนตินา จำนวน 19 ตัวอย่าง ปนในระดับ 23-100% รองลงมาคือบราซิลพบจำนวน 10 ตัวอย่าง ปนในระดับ 2.3 - 100%,  สหรัฐอเมริกา พบจำนวน 6 ตัวอย่าง ปนในระดับ 86.5-100%, อินเดีย พบจำนวน 3 ตัวอย่าง ปนในระดับ 2 - 100%, อุรุกวัย พบจำนวน 1 ตัวอย่าง ปนในระดับ 100%, แคนาดา พบจำนวน 1 ตัวอย่างปนในระดับ 88.9%, สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรต พบจำนวน 1 ตัวอย่าง ปนในระดับ 100% และไม่ระบุประเทศนำเข้าพบจำนวน 6 ตัวอย่าง ปนในระดับ 0.5 - 100% และพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่มีถั่วเหลือง GM ปนเปื้อน ได้แก่ อาหารสัตว์ พบจำนวน 5 ตัวอย่าง ปนในระดับ 0.4 - 27.8%, โปรตีนถั่วเหลืองพบจำนวน 5 ตัวอย่าง ปนในระดับ 0.1 - 0.2% และแป้งถั่วเหลือง พบจำนวน 3 ตัวอย่าง ปนในระดับ 0.7 - 3.6%


ไฟล์แนบ
.pdf   555_2551.pdf (ขนาด: 936.9 KB / ดาวน์โหลด: 2,139)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม