การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตส้มสายน้ำผึ้งคุณภาพในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
#1
การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตส้มสายน้ำผึ้งคุณภาพในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
สำอางค์ เกตุวราภรณ์ และอนรรค อุปมาลี
กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 เชียงใหม่

          การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตส้มสายน้ำผึ้งคุณภาพในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาที่พบในการปลูกส้มสายน้ำผึ้งที่สำคัญ คือ ขาดเทคโนโลยีในการผลิตส้มสายน้ำผึ้งที่เหมาะสม ทำให้ส้มมีอาการต้นโทรม โครงสร้างดินแน่น มีการระบาดของศัตรูพืชมาก และมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินการในไร่เกษตรกร อำเภอฝาง และไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนตุลาคม 2547 - กันยายน 2550 จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมทดสอบ 8 ราย รายละ 2 ไร่ มี 2 กรรมวิธีคือ 1 กรรมวิธีทดสอบ (GAP) และ 2.กรรมวิธีเกษตรกร วัตถุประสงค์เพื่อทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มสายน้ำผึ้งให้มีคุณภาพปลอดภัยสารพิษและเหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ผลการทดสอบเฉลี่ยทั้ง 2 ปี พบว่า กรรมวิธีเกษตรกรให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ต้นทุนต่อไร่และรายได้ต่อไร่สูงสุดคือ 3,353 กิโลกรัม 28,914 บาท และ 28,945.75 บาท รองลงมาคือกรรมวิธีทดสอบ 3,208 กิโลกรัม 25,861 บาท และ 28,202 บาท แต่กรรมวิธีทดสอบมีรายได้สุทธิต่อไร่สูงสุดคือ 2,341 บาท รองลงมา คือ กรรมวิธีเกษตรกร 31.75 บาท โดยกรรมวิธีทดสอบ มีต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมสูงสุด คือ 8.62 บาท รองลงมา คือ กรรมวิธีเกษตรกร 8.06 บาท จากการวิเคราะห์ผลทางเศรษฐศาสตร์พบว่า ผลผลิตคุ้มทุนต่อไร่สูงสุดในกรรมวิธีเกษตรกรคือ 2,046.28 กิโลกรัม รองลงมาคือ กรรมวิธีทดสอบ 1,846.92 กิโลกรัม ส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (BCR) พบว่า กรรมวิธีเกษตรกรมีค่าเท่ากับ 1 หมายถึงผลการดำเนินงานเท่าทุน มีความเสี่ยงไม่ควรทำการผลิต ส่วนในกรรมวิธีทดสอบมีค่าเท่ากับ 1.09 ซึ่งมากกว่า 1 สามารถแนะนำให้เกษตรกรผลิตได้แต่มีความเสี่ยงต้องระมัดระวังในการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตกับการเข้าทำลายของศัตรูพืชพบว่า กรรมวิธีทดสอบมีอาการต้นส้มโทรมมากที่สุด รองลงมาคือ กรรมวิธีเกษตรกร และเมื่อนำไปตรวจสอบหาเชื้อสาเหตุโรคกรีนนิ่ง พบว่าทุกกรรมวิธี พบโรคเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ พบแมลงศัตรูพืชในส้มสายน้ำผึ้งที่ให้ผลผลิตในฤดูกาลมากทุกกรรมวิธีคือ เพลี้ยไฟพริก ไรแดงแอฟริกัน เพลี้ยอ่อน ไรสนิมส้ม และพบแมลงศัตรูธรรมชาติในส้มสายน้ำผึ้งที่ให้ผลผลิตในฤดูกาลในกรรมวิธีทดสอบมากที่สุด 4 ชนิด ผลวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผลส้มสายน้ำผึ้ง ก่อนเก็บเกี่ยวส้มในฤดูกาลพบว่า ในกรรมวิธีเกษตรกรพบสารเคมี มากที่สุด 5 ชนิด และกรรมวิธีทดสอบ 1 ชนิด แต่ไม่เกินค่า MRLs ส่วนส้มนอกฤดูกาลพบว่า ในกรรมวิธีเกษตรกรพบสารเคมีมากที่สุด 9 ชนิดและเกินค่า MRLs 2 ชนิดคือ Profenofos และ Chlorpyrifos ส่วนกรรมวิธีทดสอบพบ 2 ชนิด แต่ไม่เกินค่า MRLs ความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตกับธาตุอาหารในดินและใบส้มก่อนดำเนินการทดสอบพบว่า เป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียวและดินร่วนปนทราย ดินมีสภาพเป็นกรดสูง อินทรียวัตถุต่ำ แต่มีธาตุฟอสฟอรัสและธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ส่วนธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำ สำหรับธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมชนิดอื่นอยู่ในค่าที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช หลังดำเนินการทดสอบ ในกรรมวิธีทดสอบมีอินทรียวัตถุอยู่ในค่าที่เหมาะสมคือ 2.71 เปอร์เซ็นต์ ส่วนธาตุฟอสฟอรัสและธาตุโพแทสเซียมสูงมากในทุกกรรมวิธี จะเห็นได้ว่าปริมาณธาตุอาหารในใบส้มก่อนและหลังดำเนินการทดสอบจะไม่แตกต่างกันมาก จากผลการดำเนินงานพบว่า คุณภาพของส้มสายน้ำผึ้งขึ้นกับปัจจัยหลายด้านที่สำคัญคือ การใช้สารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมในกรรมวิธีทดสอบพบว่าผลผลิตส้มอยู่ในระดับที่ปลอดภัยทั้งส้มที่ผลิตในฤดูกาลและนอกฤดูกาล


ไฟล์แนบ
.pdf   659_2551.pdf (ขนาด: 1.57 MB / ดาวน์โหลด: 496)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม