การพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดภาคใต้ตอนล่าง
#1
การพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดภาคใต้ตอนล่าง
สำราญ สะรุโณ, สุภาค รัตนสุภา, อริยธัช เสนเกตุ, ศุกร์ เก็บไว้, ศริณนา ชูธรรมธัช, อุดร เจริญแสง, นลินี จาริกภากร และไพโรจน์ สุวรรณจินดา
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา

          การศึกษาระบบการผลิต ศักยภาพในการแข่งขัน ภูมิปัญญาการผลิต กระบวนการตัดสินใจในการปรับปรุงการผลิต และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดบริโภคผลสดภาคใต้ตอนล่างพบว่า การผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีศักยภาพในการขยายการผลิต เนื่องจากตลาดกำลังเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีศักยภาพสูงในการแข่งขัน โดยมีจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาและขยายเครือข่ายธุรกิจ (cluster) สู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ผลการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดในพื้นที่จังหวัดพัทลุงพบว่า การใส่ปุ๋ยแบบเพิ่มคุณภาพโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 อัตรา 20 กรัม/ต้น 2 ครั้ง ในกาบใบล่างเมื่ออายุ 1 - 3 เดือน ครั้งต่อไปห่างกัน 2 - 3 เดือน และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 หลังบังคับดอก 3 เดือน อัตรา 10 กรัม/ต้น ให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่าวิธีอื่นๆ และสูงกว่าวิธีแบบภูมิปัญญาที่เกษตรกรดำเนินการอยู่ คือ ทำให้มีจำนวนต้นออกดอกและเก็บผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 17.5 ผลผลิตรวมสูงกว่าสูงสุดถึงร้อยละ 45.1 ผลผลิตคุณภาพเนื้อแก้วสูงกว่าร้อยละ 69.9 ผลขนาดน้ำหนัก 1.5 กก./ผล ขึ้นไป สูงกว่าร้อยละ 67.6 ให้ผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 68.5 และอัตราส่วนรายได้/ต้นทุน สูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 56.3 ผลการวิจัยนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ชุมชนกำหนดไว้ คือ เพิ่มผลผลิตให้ได้ 10 ตัน/ไร่ พร้อมกับให้ได้ผลผลิตเนื้อแก้ว คุณภาพดี มีรสหวาน เก็บได้นาน (เกรด 2) ประมาณ 70% ขนาดผลมากกว่า 1.5 กก./ผล และลดต้นทุนการผลิต และผลการศึกษากระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิสังคมพบว่า จำเป็นต้องจัดกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมสนับสนุนผู้นำ และชุมชนในการสร้างองค์ความรู้ชุมชนแบบภูมิปัญญาภิวัฒน์คือ สามารถพัฒนาจัดการความรู้ได้อย่างยั่งยืนและมีเหตุผล เพิ่มสมรรถนะเกษตรกรให้มีความสามารถในการปรับปรุงการผลิตได้สำเร็จด้วยการเสริมสร้างต้นทุนทางสังคมของเกษตรกรพร้อมกับภาครัฐให้การอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมกลุ่มเกษตรกร สร้างเสริมการมีส่วนร่วมจัดกระบวนการถ่ายทอดและแพร่กระจายเทคโนโลยี โดยอาศัยการเรียนรู้จากผู้นำสู่เกษตรกรในละแวกบ้านจัดระบบที่ปรึกษากลุ่มที่มาจากภาควิชาการส่งเสริม และองค์กรท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่โดยใช้วิธีการจัดทำแปลงขยายผลขั้นทดลองในพื้นที่เกษตรกรแบบหมู่บ้านวิชาการเกษตร เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาแบบเครือข่ายเทคโนโลยีพร้อมๆ กับสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   559_2551.pdf (ขนาด: 508.76 KB / ดาวน์โหลด: 571)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม