ศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกร
#1
ศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกร
สาลี่ ชินสถิต, พุฒนา รุ่งระวี, ศรินณา ชูธรรมธัช, วิลาศลักษณ์ ว่องไว, สุพร ฆังคมณี, เยาวภา เต้าชัยภูมิ และสุนันท์ ถีราวุฒ
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์สารสนเทศ, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1

          โครงการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกรแบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม อันได้แก่ ศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตยางพารา ลำไย ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และระบบการปลูกพืชผัก กางมุ้งและผักไร้ดิน (Hydroponics) ของโครงการเกษตรเชิงพาณิชย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาการผลิตพืช ระดับการยอมรับ และปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่นำไปใช้ในการผลิตพืชของเกษตรกรและเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและปรับแผนงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรให้เหมาะกับสภาพทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรผู้ปลูกพืช 4 ชนิด และ 1 ระบบพืช มีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1 การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานและคัดเลือกประชากรเป้าหมาย ขั้นตอนที่ 2 จัดทำแบบสัมภาษณ์และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ และขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์ข้อมูล โดยดำเนินการในพื้นที่ ที่มีการปลูกพืชแต่ละชนิดเป็นหลัก ในจังหวัดต่างๆรวม 29 จังหวัด จำนวนเกษตรกร 6,121 ราย ระยะเวลาตุลาคม 2548 - กันยายน 2550 ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชดังนี้ เกษตรกรที่ทำการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ยกเว้นระบบการปลูกพืชผักพบเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 31 - 60 ปี จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา เป็นเจ้าของที่ดินมีพื้นที่ถือครองครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ยกเว้นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันมีพื้นที่ถือครอง 11 - 20 ไร่ ประสบการณ์ในการผลิตพืชไม่เกิน 10 ปี เป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ เช่นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ใช้เงินทุนส่วนตัวเป็นหลักยกเว้นยางพารา ส่วนใหญ่ใช้เงินทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง รายได้ครัวเรือน 50,000 - 150,000 บาท/ปี ส่วนใหญ่มีแรงงานในครัวเรือน 2 คน ผลการศึกษาในภาพรวมทุกพืช เกษตรกรมีระดับการยอมรับเทคโนโลยี อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 55 ระดับสูงร้อยละ 26 และระดับน้อย ร้อยละ 19 ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีได้แก่ ความยาก-ง่ายของการใช้เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน (ยางพาราและปาล์มน้ำมัน) แหล่งปลูกพืช (ลำไย) ประสบการณ์ และระดับอายุของเกษตรกร มีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยี สำหรับเทคโนโลยีที่เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปใช้ในระดับสูง ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีที่เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปใช้ในระดับต่ำและปฏิบัติไม่ถูกวิธีได้แก่ เทคโนโลยีด้านการจัดการปุ๋ย  การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การจัดการระหว่างแถวปลูกในยางพาราและปาล์มน้ำมัน สำหรับปัญหาในยางพาราที่พบมากในทุกพื้นที่ได้แก่อาการเปลือกแห้ง ผลจากการศึกษาพบว่า ต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อทำให้เกษตรกรมีการยอมรับเทคโนโลยีเหล่านี้ในระดับสูงขึ้น และช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร ทางด้านการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันจำกัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร เนื่องจากราคาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพื่อช่วยทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น


ไฟล์แนบ
.pdf   561_2551.pdf (ขนาด: 334.67 KB / ดาวน์โหลด: 1,637)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม