การศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนแล้งในพันธุ์ข้าวโพด
#1
การศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนแล้งในพันธุ์ข้าวโพด
สมชาย บุญประดับ, พิเชษฐ์ กรุดลอยมา, กัลยา เนตรกัลยามิตร  และดิเรก ตนพยอม
ศูนย์วิจัยพืชไร่พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 พิษณุโลก

          ปัญหาภัยธรรมชาติอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน ทำให้ข้าวโพดมักประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงออกดอก ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่าร้อยละ 50 แนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสียหายจากภัยแล้งได้คือ การใช้พันธุ์ข้าวโพดทนแล้ง อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดทนแล้ง ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนแล้ง เพื่อใช้เป็นดัชนีในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดทนแล้ง ในขณะเดียวกันมีพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ทนแล้งหลายพันธุ์จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำเพาะลักษณะทางสรีรวิทยา เพื่อประกอบการพิจารณาในการขอรับรองพันธุ์ จึงได้ศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนแล้งของพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่พิษณุโลก ในฤดูแล้งปี 2548 - 2550 ผลการทดลองพบว่า ผลผลิตข้าวโพดลูกผสมลดลงเฉลี่ยร้อยละ 47 เมื่อขาดน้ำในระยะออกดอก และลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความทนแล้งในข้าวโพด ได้แก่ น้ำหนักแห้งรวม อุณหภูมิพุ่มใบศักดิ์ของน้ำในใบ เปอร์เซ็นต์ใบตาย และค่า  Anthesis Silking Interval ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ในทางลบกับผลผลิตในสภาพความแห้งแล้ง ข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมที่ทนแล้งได้ดี คือ พันธุ์ NSX042029 และ NSX042022 โดยมีค่าดัชนีทนแล้งสูง  (DI) 1.30 และ 1.16 ตามลำดับ และความสูญเสียของผลผลิตต่ำ (DSI) ร้อยละ 31.4 และ 39.0 ตามลำดับ ในขณะที่พันธุ์ตรวจสอบ นครสวรรค์ 2 มีค่า DI และ DSI 0.97 และ 49.1 ตามลำดับ โดยให้ผลผลิตสูงทั้งในสภาพให้น้ำปกติ (1,103 และ 1,273 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ) และในสภาพขาดน้ำ (756 และ 777 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ) นอกจากนี้ ข้าวโพดทั้ง 2 พันธุ์ ยังมีลักษณะทางสรีรวิทยาที่บ่งบอกถึงการทนแล้งได้ดี คือ มีอุณหภูมิพุ่มใบต่ำ ศักดิ์ของน้ำในใบต่ำ เปอร์เซ็นต์ใบตายต่ำ ASI ต่ำ การเปลี่ยนแปลงของปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบต่ำ และมีความหนาแน่นของรากที่ระดับลึกสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่า ควรใช้ลักษณะทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการทนแล้งบางประการ ได้แก่ น้ำหนักแห้งรวม อุณหภูมิพุ่มใบ ศักดิ์ของน้ำในใบ เปอร์เซ็นต์ใบตาย และ ASI เพื่อใช้เป็นดัชนีประกอบการคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเพื่อทนทานต่อความแห้งแล้ง และพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมดีเด่นที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีคือ พันธุ์ NSX042029 และ NSX042022 ซึ่งควรพิจารณาเสนอรับรองพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่มีลักษณะดีเด่น คือ ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี และให้ผลผลิตสูงทั้งในสภาพฝนปกติและเมื่อกระทบต่อภาวะความแห้งแล้ง


ไฟล์แนบ
.pdf   638_2551.pdf (ขนาด: 749.36 KB / ดาวน์โหลด: 599)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม