06-29-2016, 02:46 PM
การตอบสนองของถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่นที่มีต่อสายพันธุ์ไรโซเบียม และปุ๋ยเคมี
วัลลีย์ อมรพล, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, พินิจ กัลยาศิลปิน,
สุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน, จรัญ ประทุมวงค์, อัจฉรา นันทกิจ,
สุภาพร รัตนะรัต, ศักดิ์เศวต เศวตเวช,ไชยยศ เพชระบูรณิน และ
สมเพชร พรหมเมืองดี
วัลลีย์ อมรพล, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, พินิจ กัลยาศิลปิน,
สุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน, จรัญ ประทุมวงค์, อัจฉรา นันทกิจ,
สุภาพร รัตนะรัต, ศักดิ์เศวต เศวตเวช,ไชยยศ เพชระบูรณิน และ
สมเพชร พรหมเมืองดี
การตอบสนองของถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่นที่มีต่อสายพันธุ์ไรโซเบียมและปุ๋ยเคมี ดำเนินการในฤดูฝนปี 2549 - 2551 ในดินร่วนทราย ชุดดินกบินทร์บุรี และดินทราย ชุดดินวาริน ที่ ศบป.ปราจีนบุรี ในฤดูแล้ง และฤดูฝนที่ ศบป.สุโขทัย ใช้แผนการทดลองแบบ Split plot 3 ซ้ำ ปัจจัยหลัก ประกอบด้วยถั่วเหลือง 4 พันธุ์ คือ พันธุ์เชียงใหม่ 60 พันธุ์ Tampomas สายพันธุ์ EHP 275 และสายพันธุ์ CM9903-2-2-3 ปัจจัยรองเป็นกรรมวิธีใส่ปุ๋ยคือ 1) ไม่ใส่ปุ๋ย 2) ใส่ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 25 กก./ไร่ 3) ใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ ของ N-P2O5-K2O เมล็ดพันธุ์คลุกเชื้อไรโซเบียม และ 4) คือกรรมวิธีที่ 3 + micronutrient ขนาดแปลงทดลองย่อย 3 x 5.8 ม. ระยะปลูก 50 x 20 ซม. จำนวน 3 ต้น/หลุม ใส่ปุ๋ยตามกรรมวิธี โดยผสมปุ๋ยรวมกันโรยเป็นแถวก่อนปลูก กำจัดวัชพืชและพ่นสารเคมีป้องกัน/กำจัดโรคและแมลงตามคำแนะนำใน GAP ถั่วเหลือง ใส่ปุ๋ย micronutrients โดยละลายน้ำแล้วฉีดพ่นถั่วเหลืองเมื่ออายุ 25, 35 และ 50 วัน เก็บเกี่ยวเมื่อถั่วเหลืองมีฝักมีสีน้ำตาลประมาณ 95% ของจำนวนฝักทั้งหมด พื้นที่เก็บเกี่ยว 2 x 5 ม./แปลงทดลองย่อย ผลการทดลองพบว่า การปลูกถั่วเหลืองในชุดดินกบินทร์บุรี โดยใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ ของ N-P2O5-K2O เมล็ดพันธุ์คลุกเชื้อไรโซเบียม ให้ผลผลิตเมล็ด เปอร์เซ็นต์โปรตีน และผลผลิตโปรตีนเฉลี่ยสูงสุด 293 กก./ไร่, 41.3 % และ 121 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร (12-24-12) 26, 4 และ 48 % ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยสูงสุด 1,608 บาท/ไร่ โดยถั่วเหลืองสายพันธุ์ CM9903-2-2-3 ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 272 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกร (เชียงใหม่ 60 เท่ากับ 246 กก./ไร่) 11 % ส่วนสายพันธุ์ EHP 275 มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 41.5 % ในชุดดินวารินพบว่า การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O และคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก + Micronutrient ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O เมล็ดคลุกด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก โดยให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย 292 และ 281 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 49 และ 42 % ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,561 และ 1,514 บาท/ไร่ โดยการปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ Tampomas ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 269 กก./ไร่ รองลงมาคือสายพันธุ์ CM9903-2-2-3 ซึ่งให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ย 257 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกร (เชียงใหม่ 60 เท่ากับ 246 กก./ไร่) 9 และ 4 % ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ EHP 275 มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 42.2 %
การปลูกถั่วเหลืองทั้ง 4 พันธุ์ ที่ ศบป.สุโขทัยในฤดูแล้งพบว่า การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O และคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูกให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 167 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 25 % โดยถั่วเหลืองทั้ง 4 พันธุ์ ให้ผลผลิตเมล็ดอยู่ระหว่าง 116 - 163 กก./ไร่ มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ระหว่าง 36.2 – 39.0 % และในฤดูฝนพบว่า การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O เมล็ดคลุกด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยสูงสุด 184 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร 27 % มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนเฉลี่ยสูงสุด 39.7 % โดยถั่วเหลืองทั้ง 4 พันธุ์ ให้ผลผลิตเมล็ดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 142 – 193 กก./ไร่ มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ระหว่าง 37.6 – 41.2 % การใส่ปุ๋ยไม่ทำให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ย 0-9-6 กก./ไร่ของ N-P2O5-K2O คลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูกก็เพียงพอแล้ว ซึ่งผลการทดลองใช้เป็นแนวทางในการใช้พันธุ์ และการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อการเพิ่มผลผลิตและโปรตีนในเมล็ดถั่วเหลือง