ศึกษาการสลายตัวและพิษตกค้างของวัตถุมีพิษการเกษตรในมะม่วง : Cypermethrin
#1
ศึกษาการสลายตัวและพิษตกค้างของวัตถุมีพิษการเกษตรในมะม่วง : Cypermethrin
ภิญญา จุลินทร, ปรีชา ฉัตรสันติประภา และณัฏฐ์ชยธร ขัตติยะพุฒิเมธ

          การศึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงภัยจากการใช้ cypermethrin ในสวนมะม่วง ทำการศึกษาที่ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสวนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และเขียวเสวย ตลอดฤดูการปลูกจนถึงระยะเก็บผลผลิตไปจำหน่าย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ถึง มีนาคม 2551 ฉีดพ่น cypermethrin สูตร 35% EC อัตรา 4 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 15 วัน รวม 7 ครั้ง ซึ่งเป็นอัตราการฉีดพ่นสูงสุดตามที่แนะนำบนฉลากเป็นการศึกษาหาข้อมูลในกรณีที่มีการใช้วัตถุมีพิษชนิดนี้อย่างเต็มที่ (worst case scenario) หลังการฉีดพ่นสารพิษตรวจวิเคราะห์ปริมาณ cypermethrin ในผลมะม่วง นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาประมวลกับข้อมูลทางพิษวิทยาของ cypermethrin เพื่อประเมินความเสี่ยงภัยจากการบริโภคมะม่วงในช่วงเวลาต่างๆ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมิน Pesticide Risk Assessment ของ US.EPA ปัจจุบัน Codex ยังไม่ได้กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ cypermethrin ในมะม่วง (Maximum Residue Limit, MRLs) จึงเปรียบเทียบปริมาณสารพิษที่พบกับค่ากำหนดของสหภาพยุโรป (European Union, EU) ที่กำหนดให้มีได้ในมะม่วงที่ไทยส่งไปจำหน่ายประเทศในกลุ่ม EU เท่ากับ 0.05 mg/kg ซึ่งพบว่าผู้บริโภคจะมีความเสี่ยงจากการบริโภคมะม่วงที่มีสารพิษตกค้างของcypermethrin ตั้งแต่วันที่ฉีดพ่นสารพิษถึงวันที่ 28 แต่เมื่อนำข้อมูลจากการศึกษาการสลายตัวของ cypermethrin ในมะม่วงไปประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค พบว่าระดับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ทั้งนี้เนื่องจาก cypermethrin มีค่า ADI 0.05 mg/kg ซึ่งไม่ต่ำมากนั่นเอง ดังนั้นจึงควรแนะนำให้เกษตรกรเว้นระยะเวลาเพื่อให้สารพิษสลายตัวก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่าย หรือใช้วัตถุมีพิษชนิดอื่นที่มีพิษต่ำกว่าและมีคุณสมบัติในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชใกล้เคียงกันทดแทน เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากการบริโภคผลผลิตที่ปนเปื้อนสารพิษสูงเกินค่ากำหนด ตามภารกิจและจุดประสงค์ของกรมวิชาการเกษตรต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   927_2551.pdf (ขนาด: 1,004.06 KB / ดาวน์โหลด: 800)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม