ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการรังผึ้งให้ได้ต่อเนื่องตลอดปี
#1
ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการรังผึ้งให้ได้ต่อเนื่องตลอดปี
พวงผกา อ่างมณี และยุทธนา แสงโชติ

          การศึกษาเทคโนโลยีการจัดการรังผึ้งให้ได้ต่อเนื่องตลอดปี มีวัตถุประสงค์เพื่อหาชนิดพืชที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้งเพิ่มเติมจากพืชอาหารหลัก เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ซึ่งจะออกดอกในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน คือช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม หลังจากนั้นจะขาดแคลนแหล่งพืชอาหาร จึงต้องหาชนิดพืชที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้งเพิ่มเติมโดยสามารถเลี้ยงผึ้งพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ทำการศึกษาการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ และผลผลิตที่ได้จากการผสมเกสรโดยใช้ผึ้งพันธุ์ในงา ที่หน่วยงานวิจัยผึ้ง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนธันวาคม 2549 - เมษายน2551 วางแผนการทดลองแบบ RCB 8 ซ้ำ 3 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 คลุมกรงโดยมีผึ้งพันธุ์ช่วยผสมเกสรกรรมวิธีที่ 2 คลุมกรง และกรรมวิธีที่ 3 ไม่คลุมกรงที่มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ บันทึกชนิดและจำนวนแมลงผสมเกสรที่ลงตอมดอกงาในกรรมวิธีคลุมกรงโดยมีผึ้งพันธุ์ช่วยผสมเกสร และกรรมวิธีไม่คลุมกรงที่มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ ทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. ตลอดช่วงอายุการบานของดอก เมื่องาสุกนับจำนวนฝัก และชั่งน้ำหนัก 1,000 เมล็ดในแต่ละกรรมวิธี ผลการทดลองพบว่าจำนวนฝักงา/10 ตารางเมตร ของงาทั้ง 3 กรรมวิธีแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กรรมวิธีไม่คลุมกรงที่มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ มีจำนวนฝักงา/10 ตารางเมตรมากที่สุด รองลงมาคือกรรมวิธีคลุมกรงโดยมีผึ้งพันธุ์ช่วยผสมเกสร และกรรมวิธีคลุมกรง ตามลำดับ น้ำหนักเมล็ดงาต่อ 1,000 เมล็ด ในกรรมวิธีคลุมกรงโดยมีผึ้งพันธุ์ช่วยผสมเกสร และกรรมวิธีไม่คลุมกรงที่มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ แต่ทั้ง 2 กรรมวิธีมีน้ำหนักเมล็ดงาต่อ 1,000 เมล็ด มากกว่ากรรมวิธีคลุมกรงอย่างมีนัยสำคัญ การลงตอมดอกงาของแมลงผสมเกสรพบว่า ในสัปดาห์ที่ 2 กรรมวิธีคลุมกรงโดยมีผึ้งพันธุ์ช่วยผสมเกสร และกรรมวิธีไม่คลุมกรงที่มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ พบแมลงผสมเกสรลงตอมดอกงามากที่สุด ในกรรมวิธีคลุมกรงโดยมีผึ้งพันธุ์ช่วยผสมเกสร พบผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera L.) และกรรมวิธีไม่คลุมกรงที่มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ พบผึ้งพันธุ์ (A. mellifera L.), ผึ้งโพรง (A. cerana Fabr.) ผึ้งมิ้ม (A. florea Fabr.) และอื่นๆ ได้แก่ ได้แก่ ผึ้งหลวง (A. dorsta), ผึ้งเจาะหลอดไม้ (Ceratina sp.), แมลงภู่ (Xylocopa sp.) และชันโรง (Trigona sp.) และเนื่องจากพฤติกรรมของผึ้งพันธุ์ที่ลงตอมดอกงานั้นจะเก็บเกสรและ/หรือน้ำหวานจากดอกงาทำให้ผู้เลี้ยงผึ้งได้มีแหล่งพืชอาหารให้แก่ผึ้งได้อย่างต่อเนื่อง


ไฟล์แนบ
.pdf   956_2551.pdf (ขนาด: 959.92 KB / ดาวน์โหลด: 943)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม