05-26-2016, 03:21 PM
วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันทองในผลมะละกอเพื่อการส่งออก
มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, ชัยณรัตน์ สนศิริ, สลักจิต พานคำ, รัชฎา อินทรกำแหง และอุดร อุณหวุฒิ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และผู้เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร
มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, ชัยณรัตน์ สนศิริ, สลักจิต พานคำ, รัชฎา อินทรกำแหง และอุดร อุณหวุฒิ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และผู้เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีกำจัดแมลงวันทองในกลุ่ม B. dorsalis species complex ด้วยความร้อนที่ได้มาตรฐานของวิธีกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืชในผลมะละกอก่อนการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ศึกษาด้านความเสียหายของมะละกอจากวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำเปรียบเทียบกับวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์พบว่า วิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์จะใช้เวลาในการอบมะละกอนานกว่าวิธีการอบไอน้ำ การสูญเสียน้ำหนัก และปริมาณน้ำตาล ทั้ง 2 วิธีการไม่แตกต่างกันทางสถิติเมื่อเทียบกับมะละกอที่ไม่ผ่านความร้อน เมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่ผิวภายนอก และภายในผลมะละกอที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสีผิวที่ผลจากสีเขียวเป็นสีเหลืองใกล้เคียงกับมะละกอที่ไม่ผ่านความร้อน ในขณะที่มะละกอที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง จะแสดงความเสียหายภายนอกที่ผิว โดยเกิดรอยบุ๋ม และภายในผลเกิดอาการช้ำ และนิ่ม เนื่องจากความร้อนอย่างเด่นชัด เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเบื้องต้น วิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์มีความเหมาะสมทีจะใช้เป็นวิธีกำจัดแมลงวันทองในผลมะละกอมากกว่าวิธีการอบไอน้ำ ศึกษาความทนทานต่อความร้อนของแมลงวันทองในระยะไข่ และหนอนวัยต่าง ๆ ในผลมะละกอด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อกำหนดระยะการเจริญเติบโตที่ทนทานต่อความร้อนมากที่สุด พบว่าหนอนวัยที่ 1 เป็นวัยที่ทนทานต่อความร้อนมากที่สุด โดยที่หนอนวัยที่ 1 ตายทั้งหมดที่อุณหภูมิ 46.5 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ในมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ จากผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้พิจารณาเพื่อศึกษาการประเมินประสิทธิภาพการกำจัดแมลงด้วยความร้อนต่อไป