05-23-2016, 11:00 AM
การศึกษาชนิดของศัตรูพืชที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ทานตะวันที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ศรีวิเศษ เกษสังข์,วันเพ็ญ ศรีชาติ, ชลธิชา รักใคร่ และวานิช คำพานิช
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ศรีวิเศษ เกษสังข์,วันเพ็ญ ศรีชาติ, ชลธิชา รักใคร่ และวานิช คำพานิช
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ทานตะวัน (Helianthus annuus L.) มีศัตรูพืชที่เข้าทำลายส่วนต่างๆ ของทานตะวันมีศัตรูพืชทั้งสิ้น 250 ชนิด คือ จัดเป็นแมลง 120 ชนิด ไรและแมงมุม 2 ชนิด ไส้เดือนฝอย 12 ชนิด เชื้อรา 40 ชนิด แบคทีเรีย 11 ชนิด ไวรัส 5 ชนิด วัชพืช 58 ชนิด และหอยทาก 1 ชนิด และจากการตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคและศัตรูพืชกับเมล็ดพันธุ์ทานตะวันในห้องปฏิบัติการ โดยการสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน ที่นำเข้าระหว่างเดือน ตุลาคม 2554 – กันยายน 2556 จาก 9 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สเปน และเยอรมัน รวม 69 ตัวอย่าง มาทำการตรวจสอบศัตรูพืชเบื้องต้นด้วยสายตา (Visual inspection) และภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่า เมล็ดทานตะวันที่นำเข้า ไม่พบร่องรอยการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชหรือการปนเปื้อนของวัชพืช จากการตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคพืชกับเมล็ดพันธุ์ทานตะวันในห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี Blotter method ตรวจพบเชื้อรา Alternaria tenuis, Alternaria raphani, Cladosporium sp. Ulocladium sp. Fusarium semitectum, Chaetomium sp. Curvularia pallescens และ Streptomyces sp. และจากการนำเข้าเมล็ดทานตะวัน มาตรวจสอบด้วยวิธี Dilution method ไม่พบเชื้อแบคทีเรียเชื้อสาเหตุโรคพืชและเมื่อนำเมล็ดมาปลูกสังเกตอาการโรค (Seedling symptom test) ในโรงปลูกพืช ไม่พบอาการผิดปกติกับต้นทานตะวัน ดังกล่าว และเมื่อติดตามตรวจสอบโรคและศัตรูพืชในท้องที่จังหวัดสระบุรี และลพบุรี ตรวจพบโรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อสาเหตุ Alternaria tenuis โรคราแป้งข้าว เกิดจากเชื้อรา Oidium sp. และโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา Puccinia sp.และในแปลงปลูกจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจพบอาการต้นเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum และอาการใบด่าง ซึ่งศัตรูพืชที่พบในเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าและตรวจพบในแปลงปลูกไม่ใช่เชื้อโรคและศัตรูพืชที่สำคัญทางกักกันพืชของประเทศไทย