การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองโดยใช้เทคนิคอณูชีวิทยา
#1
การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองโดยใช้เทคนิคอณูชีวิทยา
กาญจนา วาระวิชะนี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน

          การตรวจโรคไวรัสใบด่างเหลือง (Mungbean Yellow Mosaic Virus, MYMV) โดยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ด้วยไพร์เมอร์ ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อ (specific primer) กับ DNA-A ทั้งวง จeนวน 3 คู่ คือ MYMV-V2-F1 & MYMV-C3-F1, MYMV-V2-R2 & MYMV-C3-F2 และ MYMV-V2-R3 & MYMV-C1-F3 เป็นวิธีการคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวต้านทานโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์ให้ต่อไปในอนาคต และเมื่อเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์เชื้อไวรัส MYMV-A สาเหตุโรคไวรัสใบด่างเหลือง จำนวน 2746 bp กับฐานข้อมูล GenBank พบว่าคล้ายกับเชื้อไวรัส MYMV ประเทศ อินเดีย และปากีสถาน อยู่ในระดับ 95-96 เปอร์เซ็นต์ และบริเวณ intergenic region มีโครงสร้างแบบ hairpin structure อยู่ 9 นิวคลีโอไทด์ (nonanucleotide) เป็น 5' TAATATTAC 3' ซึ่งเป็นลำดับนิวคลีโอไทด์ส่วนอนุรักษ์ของกลุ่มเจมินีไวรัสทุกชนิด ในส่วนการทดสอบความต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองของเมล็ดพันธุ์ถั่วจากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทในปี 2554-2556 จำนวน 2 ชุด รวมทั้งหมด 130 สายพันธุ์ๆ ละ 20 ต้น โดยนำถั่วเขียวทุกสายพันธุ์มาปลูกเชื้อไวรัส MYMV ด้วยแมลงหวี่ขาวและสังเกตอาการภายในเรือนทดลองรวม 45 วัน หลังจากนั้นประเมินความรุนแรงของโรคจากการสังเกตด้วยตาเปล่าและอ้างอิงตามเกณฑ์ Disease Scoring Scale (1-9) for MYMV (Sadiq et al., 2006) ผลการทดสอบของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวชั่วที่ 3 (F3) จำนวน 12 คู่ผสม (คู่ผสมละ 5 สายพันธุ์) พบถั่วเขียว 2 สายพันธุ์เท่านั้น ที่แสดงความทนทานต่อโรค ได้แก่ CNMB-MYMV-08-06-12 (คู่ผสมที่ 6 KPS 2 x NM 54) และ CNMB-MYMV-08-07-14 (จากคู่ผสมที่ 7 ระหว่างพันธุ์ NM92 x KPS2) ซึ่งประเมินการเข้าทำลายของโรคอยู่ที่ 25 % เกณฑ์คะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 5 สำหรับผลการทดสอบของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวชุดอุณหภูมิต่ำและฉายรังสีพบมีถั่วเขียวเพียง 1 สายพันธุ์เท่านั้น ที่แสดง ความต้านทานปานกลางต่อโรค ได้แก่ VC 2901-11-2B-1-B ซึ่งประเมินการเข้าทำลายของโรคอยู่ที่ 15 % เกณฑ์คะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 4 สรุปจากข้อมูลข้างต้นพบเชื้อไวรัส MYMV-A พบระบาดทำความเสียหายให้กับพืชถั่วเขียวในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อนำพันธุ์ถั่วเขียวจากแถบประเทศดังกล่าวมาใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะอ่อนแอต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ จึงควรมีการทดสอบระดับความต้านของพันธุ์ถั่วเขียวก่อนนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งด้านผลิต ระยะเวลา และต้นทุน


ไฟล์แนบ
.pdf   17_2556.pdf (ขนาด: 1.59 MB / ดาวน์โหลด: 2,514)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม