การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชสำหรับยางพาราเฉพาะพื้นที่
#1
การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชสำหรับยางพาราเฉพาะพื้นที่
นุชนารถ  กังพิศดาร, มนัชญา  รัตนโชติ, ปูธิตา  เปรมกระสิน, ธมลวรรณ  ขิวรัมย์, ลาวัณย์  จันทร์อัมพร และอนันต์  ทองภู
สถาบันวิจัยยาง  สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

         การจัดการธาตุอาหารพืชสำหรับยางพาราให้เหมาะสมเฉพาะพื้นที่เป็นการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินโดยพิจารณาถึงปัจจัยทางภูมิอากาศ และวิธีปฏิบัติของเกษตรกรเพื่อให้การใช้ปุ๋ยสำหรับยางพารามีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพการผลิต ปี 2552-2553 ทำการทดลองในสวนยางเกษตรกรจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางมากในแต่ละภาคที่มีปัจจัยทางดินและปัจจัยทางภูมิอากาศแตกต่างกัน วิเคราะห์สภาพพื้นที่และการจัดการสวนยางของเกษตรกร วิเคราะห์สมบัติทางเคมีของดินและปริมาณธาตุอาหารใบยางเพื่อแนะนำการใช้ปุ๋ย โดยทดลองกับต้นยางก่อนเปิดกรีดอายุ 2-3 ปี และต้นยางหลังเปิดกรีดอายุ 10-12 ปี จำนวน 190 แปลง ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมเรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเอง ผลจากการสำรวจข้อมูลดินและปริมาณน้ำฝนพบว่าสวนยางกระจายอยู่ในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตรต่อปี จนถึงมากกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี สามารถจำแนกชุดดินในสวนยางเกษตรกรได้ 19 ชุดดิน โดยส่วนใหญ่เป็นดินที่ใช้ปลูกยางพารา พืชไร่ และบางชุดดินเป็นดินที่ใช้ทำนา ซึ่งดินเหล่านี้มีการใช้ปลูกพืชซ้ำในที่ดินเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน เกษตรกรส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางอัตราต่ำกว่าปริมาณที่เหมาะสมทำให้ดินมีปริมาณธาตุอาหารต่ำกว่าระดับที่เพียงพอ มีผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ มีปริมาณธาตุอาหารหลักที่ยางพาราต้องการต่ำกว่าระดับเหมาะสม และเมื่อพิจารณาความสมดุลของธาตุอาหารในต้นยางพารา โดยพิจารณาจากสัดส่วนปริมาณธาตุอาหารในใบยางพบว่าต้นยางในแปลงเกษตรกรมีสัดส่วนของธาตุอาหารอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างไม่สมดุล โดยส่วนใหญ่มีปริมาณไนโตรเจน และฟอสฟอรัสในใบยางอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณธาตุอาหารในดิน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิบัติดูแลสวนยางไม่เป็นไปตามคำแนะนำและการปลูกพืชซ้ำในที่ดินเดิมหรือการปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจึงเป็นแนวทางในการเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของยางได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในปี 2554-2555 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1513_2552.pdf (ขนาด: 410.84 KB / ดาวน์โหลด: 2,042)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม