ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยของทุเรียนลูกผสมที่คัดเลือกแล้ว
#1
ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยของทุเรียนลูกผสมที่คัดเลือกแล้ว
ปัญจพร เลิศรัตน์, อุมาพร รักษาพราหมณ์, ทรงพล สมศรี และบงกช ยอทำนบ
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักวิจัพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

          การศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยของทุเรียนลูกผสมที่คัดเลือกแล้ว เพื่อทดสอบการตอบสนองของทุเรียนที่คัดเลือกแล้วด้านการเจริญเติบโต พัฒนาการและผลผลิตทุเรียน เป็นข้อมูลประกอบการรับรองพันธุ์พืช ได้ดำเนินการทดลองในแปลงทุเรียน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 โดยทำการปลูกทุเรียนลูกผสมที่คัดเลือกแล้ว 3 พันธุ์ คือ จันทบุรี 1 จันทบุรี 2 และจันทบุรี 3 เปรียบเทียบกับทุเรียนพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ชะนี และพันธุ์หมอนทอง ทำการจัดการให้ปุ๋ยระดับต่างๆ ทั้ง 4 ระดับ หลังจากสุ่มเก็บตัวอย่างใบวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารพืช และทำการประเมินขนาดของเส้นรอบวงต้นทุกๆ 1 เดือน พบว่า ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 1 และจันทบุรี 3 มีแนวโน้มตอบสนองต่อปุ๋ยอัตราแนะนำ (100-100-100 กรัมของ N-P2O5-K2O) มากที่สุด โดยมีการเพิ่มขนาดเส้นรอบวงมากขึ้นมากกว่ากรรมวิธีการใส่ปุ๋ยอัตราอื่นๆ 14-36% ตามลำดับ (ดังแสดงในภาพที่ 1-3) ส่วนพันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 2 มีอัตราการเจริญเติบโตแตกต่างออกไป มีแนวโน้มการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ย 50-50-50 กรัมของ N-P2O5-K2O ได้ดีกว่าอัตราอื่นๆ มีขนาดเส้นรอบวงต้นเพิ่มมากขึ้นใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 6% ซึ่งทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 1, 2 และ 3 มีแนวโน้มการตอบสนองต่อปุ๋ยใกล้เคียงกับทุเรียนพันธุ์ชะนี แต่พันธุ์หมอนทองมีแนวโน้มการตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดีที่สุดโดยมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นตามอัตราปุ๋ยที่มากขึ้นด้วย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากทุเรียนลูกผสมทั้ง 3 สายพันธุ์ นอกจากนั้นเมื่อประเมินความสัมพันธ์ปริมาณธาตุอาหารในดินและใบทุเรียนพันธุ์ต่างๆ พบว่า ไนโตรเจนมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตทางลำต้นของทุเรียนมากกว่าธาตุอื่นๆ ยิ่งมีการเจริญเติบโตมาก มีความต้องการใช้ไนโตรเจนมากขึ้นด้วย ส่วนความต้องการโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสมีมากรองลงมาตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   1954_2553.pdf (ขนาด: 823.5 KB / ดาวน์โหลด: 1,203)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม