การใช้ระบบสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อสำรวจการระบาดของข้าววัชพืชในนาข้าวเขตภาคกลาง เหนือ
#1
การใช้ระบบสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อสำรวจการระบาดของข้าววัชพืชในนาข้าวเขตภาค กลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จรรยา มณีโชติ, อริยา เผ่าเครื่อง และศันสนีย์ จำจด
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          การสำรวจการระบาดของข้าววัชพืชในนาข้าวเขตภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ระบบสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของข้าววัชพืชเป็นการสำรวจโดยใช้เครื่อง global positioning system (GPS) ระบุตำแน่งพิกัดของแปลงนาที่มีการระบาดของข้าววัชพืชร่วมกับการใช้แบบสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ประสบปัญหาในระหว่างเดือนตุลาคม 2548 - กันยายน 2550 ผลการสำรวจพบว่า ผลการสำรวจการแพร่ระบาดของข้าววัชพืชในนาข้าวเขตภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างเดือนตุลาคม 2548 - เดือนกันยายน 2550 พบว่า ข้าววัชพืชมีการระบาดรุนแรงในเขตภาคกลาง จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง ได้แก่ สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี ลพบุรี ชัยนาท อยุธยา และนครสวรรค์ พบการระบาดระดับปานกลางในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเริ่มมีการระบาดเล็กน้อยในพื้นที่เขตชลประทานของจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม และนครราชสีมา รวมพื้นที่การระบาดประมาณ 2 ล้านไร่ ในปี พ.ศ. 2550 ชนิดข้าววัชพืชที่สำรวจพบมากที่สุดคือ ข้าวดีด รองลงไปได้แก่ ข้าวหางและข้าวแดง ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดคือ การปลอมปนของข้าววัชพืชในเมล็ดพันธุ์ข้าวและติดไปกับรถรับจ้างเกี่ยวข้าว เมื่อมีการระบาดของข้าววัชพืชทำให้ผลผลิตข้าวลดลงเฉลี่ยไร่ละ 270 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 3 พันล้านบาทต่อฤดูปลูก นอกจากนั้นการประเมินความหลากหลายของข้าววัชพืช 38 ประชากร พบว่าข้าววัชพืชมีการปรับตัวให้ใกล้เคียงกับข้าวปลูกมากขึ้น โดยพบว่ามีหลายประชากรที่มีเปลือกเมล็ดสีฟางทุกต้น เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีขาวทุกเมล็ด มีจำนวนเมล็ดต่อรวงและการติดเมล็ดใกล้เคียงหรือมากกว่าข้าวปลูกพันธุ์สุพรรณบุรี 1 แต่มีลักษณะที่เป็นวัชพืชร้ายแรงคือ เมล็ดร่วงมากกว่า 80% การติดตามการระบาดของข้าววัชพืชนี้เป็นงานวิจัยที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มการปรับตัวของข้าววัชพืชให้อยู่รอดและแพร่ระบาดในนาเกษตรกรว่าปรับตัวไปในทิศทางใด เพื่อนำเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด และเลือกวิธีการจัดการข้าววัชพืชที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1791_2553.pdf (ขนาด: 708.25 KB / ดาวน์โหลด: 612)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม