การทดสอบรูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก
#1
การทดสอบรูปแบบระบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก
อนุชา เหลาเคน, นิพนธ์ ภาชนะวรรณ, บุญชู สมสา, มะลิวรรณ ทบภักดิ์, พนิดา อ่อนสา, กฤษฎา สาทองขาว และจักรพรรดิ์ วุ้นสีแซง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม

         การทดสอบรูปแบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลักจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบที่มีระบบการผลิตเป็นไปตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับภูมิสังคมรวมทั้งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพืชในแต่ละสภาพพื้นที่ เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ จากผลการดำเนินงานได้เกษตรกรต้นแบบ 1 ราย คือ นางสมจิตร รัตน์รองใต้ อยู่ที่ ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ได้ใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีการผลิตพืช ได้แก่ เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย ได้แก่ พันธุ์ระยอง 7 ระยอง 9 อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร่วมกับการจัดการตามแนวทางการปฏิบัติเกษตรดีที่เหมาะสม โดยการปรับเปลี่ยนชนิด และพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ยิ่งขึ้น ส่วนมันสำปะหลังเกษตรกรได้ทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษเหลือจากวัตถุดิบทำขนมนำไปแช่และหมักท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนนำไปปลูกพบว่า งอกได้เร็วกว่าไม่แช่ 14-20 วัน นางสมจิตร รัตน์รองใต้ กลายเป็นเกษตกรที่มีหัวใจพอเพียงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม ทำการเกษตรโดยผลิตพืชไร่เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันสำปะหลัง ก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 1.8 ตันต่อไร่ รายได้สุทธิ 2,177 บาทต่อไร่ และหลังเข้าร่วมโครงการได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6.25 ตันต่อไร่ รายได้สุทธิ 6,330 บาทต่อไร่ อ้อยก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 6.4 ตันต่อไร่ รายได้สุทธิ 1,853 บาทต่อไร่ และหลังเข้าร่วมโครงการได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 12 ตันต่อไร่ รายได้สุทธิ 3,749 บาทต่อไร่ เมื่อปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรได้รับผลตอบแทนต่อการลงทุนรวม (Benefit Cost Ratio : BCR) ก่อนเข้าร่วมโครงการฯ เท่ากับ 1.17 หลังเข้าร่วมโครงการเท่ากับ 1.72 นอกจากนี้ นางสมจิตร รัตน์รองใต้ ยังได้รวมกลุ่มจัดทำขนมชมที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กลุ่มสมาชิกเป็นเงินกว่า 60,000-70,000 บาทต่อปี


ไฟล์แนบ
.pdf   1827_2553.pdf (ขนาด: 95.37 KB / ดาวน์โหลด: 442)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 5 ผู้เยี่ยมชม