การพัฒนารูปแบบระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ภาคใต้
#1
การพัฒนารูปแบบระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
สำราญ สะรุโณ, บรรเทา จันทร์พุ่ม, ไพโรจน์ สุวรรณจินดา, นลินี จาริกภากร, ปัทมา พรหมสังคหะ, สาริณีย์ จันทรัศมี, ไพเราะ เทพทอง, มนิตย์ แสงทอง, สุชาติ ไชยพันธ์, ชอ้อน พรหมสังคหะ, บุรัตน์ เหมือนยอด, อาอีฉ๊ะ ใบละจิ, สุภาค รัตนสุภา, อุไรวรรณ สุกด้วง, สมใจ จีนชาวนา, ปรีดา หมวดจันทร์, เสาวนีย์ ชูวิโรจน์ อริยธัช เสนเกตุ, เกียรติศักดิ์ ชุนไกร, พันธ์ศักดิ์ อินทรวงศ์, สัมพันธ์ เกตุชู, สุมณฑา ชนะเลิศเพ็ชร, ศรินณา ชูธรรมธัช, อุดร แสงเจริญ, วิชัย ใจภักดี และสุรพล จันทร์เรือง
ศูนย์วิจัยและพัมนาการเกษตรพัทลุง, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพังงา

          การพัฒนารูปแบบระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบการจัดกระบวนการผลิตพืชผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับภูมิสังคมที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นของครัวเรือนเกษตรกร และพัฒนาครัวเรือนเกษตรกรต้นแบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้แนวทางการวิจัยเชิงบูรณาการแบบองค์รวม (Holistically Integrative Research) ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา ระหว่างปี 2551-2553

          ผลการวิจัยพบว่า การจัดกระบวนการผลิตพืชผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบความสำเร็จจำเป็นจะต้องมีการสร้างวาทกรรม "4 เสาหลักสู่ความพอเพียง" ได้แก่ "หัวใจพอเพียง" "ภูมิปัญญาภิวัฒน์พอเพียง" "9 พืชผสมผสานพอเพียง" และ "ดำรงชีพพอเพียง" เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างรูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาระบบการผลิตพืช โดยกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนา จะต้องจัดทำแปลงต้นแบบระบบปลูกพืชในไร่พร้อมๆ กับการจัดกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยการจัด "เวทีวิจัยสัญจร" ให้มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรและนักวิจัยในไร่นาเกษตรกรหมุนเวียนเดือนละครั้ง การสร้างอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของเกษตรกร ผู้นำการสร้างแปลงต้นแบบการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การจัดกระบวนการเผยแพร่ผลงานและข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ การจัดกิจกรรมและค่ายพัฒนาพฤติกรรมเพื่อเพิ่มทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ซึ่งผลจากการพัฒนาดังกล่าวทำให้เกษตรกรมี "หัวใจพอเพียง" คือ เกิดความตั้งใจที่ใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากการส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มีการปลูกพืชผสมผสานที่เพียงพอกับความต้องการตามแนวทาง "9 พืชผสมผสานพอเพียง" คือ มีการปลูกพืช 9 กลุ่มพืช ได้แก่ กลุ่มพืชรายได้ พืชอาหาร พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืชสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช พืชอาหารสัตว์ ไม้ใช้สอย พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชอนุรักษ์พันธุกรรม และพืชพลังงาน

          ผลจากการดำเนินงานทำให้เกษตรกรสามารถพัฒนาการผลิตพืชได้เพิ่มขึ้นจาก 22 ชนิด เป็น 58 ชนิด หรือเพิ่มขึ้น 36 ชนิด เกษตรกรมี "ภูมิปัญญาภิวัฒน์พอเพียง" คือ พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายภูมิปัญญา เช่น การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะระด้วยกับดักกาวเหนียว การป้องกันกำจัดศัตรูถั่วฝักยาวด้วยสารสกัดจากพืช การใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกข้าว มันเทศ แตงกวา แตงโม ข้าวโพดหวาน ยางพารา การปลูกพืชต่างระดับ 4 ชั้น ในสวนยางพารา และบริเวณบ้าน และการจัดการสวนยางพารา พืชผักและกระชายดำแบบอินทรีย์ ผลจากการพัฒนาได้ทำให้เกิด "การดำรงชีพพอเพียง" คือ สามารถเกิดความพอเพียงในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น


ไฟล์แนบ
.pdf   1834_2553.pdf (ขนาด: 97.9 KB / ดาวน์โหลด: 596)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม