การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรม
#1
การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรม
วิไลวรรณ ทวิชศรี, ปิยะนุช นาคะ, สมชาย วัฒโยธิน, เสรี อยู่สถิตย์, สุภาพร ชุมพงษ์, ผานิต งานกรณาธิการ, ยุพิน กสินเกษมพงษ์, ปานหทัย นพชินวงศ์, ทิพยา ไกรทอง, ปริญดา หรูนหีม, ดำรงค์ พงษ์มานะวุฒิ และวิษณุศิลป์ เพ็ชรรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และสถาบันวิจัยพืชสวน

          งานวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรในช่วง พ.ศ. 2548-2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มะพร้าวผลแก่โดยศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าว แปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว และขยายผลถ่ายทอดชุดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งให้มีการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวอย่างครบวงจรและรักษามาตรฐานการผลิตมะพร้าวให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน มีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ค้นคว้าให้ได้ชุดเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ โดยการศึกษาพัฒนากระบวนการผลิต ศึกษาอายุการเก็บรักษา วิเคราะห์หาปริมาณกรดลอริก และแปรรูปน้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขั้นตอนที่ 2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย และขั้นตอนที่ 3 ติดตามประเมินผลการถ่ายทอดเทคโนโลยี และความพึงพอใจในการนำเทคโนโลยีไปใช้

          ผลการวิจัยพบว่า การผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จากกรรมวิธีการผลิตแบบหมัก แบบเหวี่ยง และแบบหีบ จะได้ปริมาณน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เท่ากับ 20 24 และ  25 %ของน้ำหนักมะพร้าวขูด กรรมวิธีการผลิตแบบหมักไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาสูงสามารถผลิตในครัวเรือนได้ และทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพอิสระได้ สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตมะพร้าวแก่ได้ประมาณ 3 เท่า และน้ำมันที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 ปี เช่นเดียวกับน้ำมันจากกรรมวิธีการเหวี่ยง ส่วนน้ำมันจากกรรมวิธีการผลิตแบบหีบมีอายุการเก็บรักษา 18 เดือน การศึกษาและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวพบว่า ผลิตภัณฑ์สบู่น้ำมันมะพร้าว ครีมสมานรอยเท้าแตก น้ำมันเคลือบเส้นผม และลิปบาล์ม มีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเผยแพร่เทคโนโลยีไปผู้รับสามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพได้ มะพร้าวทุกสายพันธุ์สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ แต่แนะนำให้ใช้พันธุ์ลุกผสมชุมพร 2 เรนเนลล์ต้นสูง มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย ชุมพรลูกผสม 60 สวีลูกผสม 1 และไทยสีแดงต้นเตี้ย (หมูสีส้ม) เนื่องจากให้น้ำมันมีปริมาณกรดลอริคสูงกว่า 49.0%

          การขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีพบว่า ผู้ผ่านการอบรม 1,237 คน ผู้เข้าชมการสาธิตและนิทรรศการ 5,850 คน และผู้เข้าดูงานที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร 215 คน ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่ได้รับเทคโนโลยีผ่านสื่อต่างๆ การติดตามประเมินผลพบว่า ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้มากขึ้นและผู้ผ่านการอบรมร้อยละ 53.6 มีรายได้จากการทำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือผลิตภัณฑ์ โดยผู้มีรายได้มากกว่า 24,000 บาทต่อปี จะซื้อวัตถุดิบในการผลิตจากเพื่อนบ้านและพ่อค้าคนกลางนอกจากใช้วัตถุดิบจากสวนตัวเอง จึงมีกาารกระจายรายได้จากการผลิตสู่เกษตรกรและในระบบอุตสาหรรมการผลิต ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวอย่างครบวงจร และรักษาฐานการผลิตมะพร้าวให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน


ไฟล์แนบ
.pdf   1800_2553.pdf (ขนาด: 610.47 KB / ดาวน์โหลด: 960)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม