12-09-2015, 11:24 AM
ความเหมาะสมของพันธุ์และช่วงปลูกมันสำปะหลังเฉพาะพื้นที่
วลัยพร ศะศิประภา, สุกิจ รัตนศรีวงษ์, วินัย ศรวัต, โสภิตา สมคิด และนรีลักษณ์ วรรณสาย
ศูนย์สารสนเทศ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิษณุโลก
วลัยพร ศะศิประภา, สุกิจ รัตนศรีวงษ์, วินัย ศรวัต, โสภิตา สมคิด และนรีลักษณ์ วรรณสาย
ศูนย์สารสนเทศ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิษณุโลก
การเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้ การใช้แบบจำลองการผลิตมันสำปะหลังที่ใช้ข้อมูลภูมิอากาศรายวัน คุณลักษณะดิน คุณลักษณะทางพันธุกรรมพืช และการจัดการด้านเขตกรรม ร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อประเมินศักยภาพการให้ผลผลิตมันสำปะหลังกับสภาพพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7 พันธุ์ โดยใช้แบบจำลองพืช GUMCAS ร่วมด้วยข้อมูลภูมิอากาศรายวันในช่วงปี 2546 - 2551 คุณสมบัติของดิน ค่าสัมประสิทธิ์ทางพันธุกรรมของมันสำปะหลัง การจัดการภายใต้สภาพแวดล้อมการผลิตมันสำปะหลังของในแต่ละท้องที่ เช่น พันธุ์ วันปลูก ระยะปลูก เก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน โดยอาศัยน้ำฝนภายใต้สมมุติฐานที่ไม่พิจารณาเรื่องปุ๋ยพบว่า ช่วงปลูกที่ให้ผลผลิตค่อนข้างดีอยู่ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม และช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ช่วงปลูกที่ผลผลิตสูงแต่ผันแปรมากอยู่ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงแล้ง ส่วนช่วงที่ให้ผลผลิตต่ำอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายนหรือช่วงฝน พันธุ์และสภาพแวดล้อมมีผลต่อผลผลิตในสัดส่วนที่แตกต่างกัน การปรับตัวของแต่ละพันธุ์ในสภาพแวดล้อมการผลิตแตกต่างกันตามภาค การเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่จากมันสำปะหลัง 7 พันธุ์ สามารถพิจารณาตามสภาพภูมิอากาศและคุณลักษณะดิน พันธุ์ระยอง 5 เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีมีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตแต่ผลผลิตไม่สูงมาก พันธุ์ระยอง 9 ระยอง 7 ระยอง 72 ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีทางเลือกในการใช้พันธุ์มากกว่าภาคอื่นๆ