การวิเคราะห์ศักยภาพการปลูกยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดระดับแปลงเกษตรกรโครงการปลูกยางพารา
#1
การวิเคราะห์ศักยภาพการปลูกยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดระดับแปลงเกษตรกรในโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในเขตปลูกยางใหม่
กฤษดา  สังข์สิงห์ และพิเชษฐ  ไชยพานิชย์
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี  สถาบันวิจัยยาง

          จากการสำรวจและสุ่มเลือกแปลงยางพาราของเกษตรกรในจังหวัดภาคเหนือตอนล่างได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร และเพชรบูรณ์ รวม 22 แปลง จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคายและนครพนม รวม 18 แปลง จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง รวม 6 แปลง รวมทั้งหมด 46 แปลง บันทึกข้อมูลเจ้าของแปลง สถานที่ตั้ง เส้นพิกัด ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะดิน วันที่ปลูก จำนวนพื้นที่ พันธุ์ยาง การใส่ปุ๋ย ผลสำเร็จของการปลูก วัดเส้นรอบลำต้น (สุ่มวัดกลางแปลง ๆ ละ 80 ต้น) ปีละ 2 ครั้ง และศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาอื่น ๆ และใช้แบบจำลองการเจริญเติบโตจากข้อมูลภูมิอากาศร่วมกับลักษณะเนื้อดินที่เสนอโดย Wijaya et al.(2005) มาคำนวณค่า MI, TI, LI และ GI ของแต่ละจังหวัด เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของเส้นรอบวงลำต้นและคำนวณระยะเวลาก่อนเปิดกรีด

          ผลการศึกษาพบว่ายางพาราในเขตนี้มีผลสำเร็จของการปลูกสูง แต่โดยเฉลี่ยแล้วต้นยางพารามีการเจริญเติบโตน้อยกว่าในเขตปลูกยางเดิมเล็กน้อย และสามารถใช้แบบจำลองนี้ประเมินการเจริญเติบโตได้ โดยทำนายว่าต้นยางพาราต้องใช้เวลาก่อนเปิดกรีด (มีเส้นรอบวงลำต้นถึง 50 เซนติเมตร) ประมาณ 8 ปี และในบางจังหวัดอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เมื่อได้นำข้อมูลเส้นรอบวงลำต้นที่ได้จากการวัดจริงในแปลงเกษตรกรมาเปรียบเทียบกับแบบจำลองก็พบว่ามีค่าใกล้เคียงกัน 

         สำหรับการศึกษาผลของสมบัติดินทางเคมีและปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบที่มีต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีตามเกณฑ์ ผลการวิเคราะห์สมบัติดินทางเคมีพบว่าในแต่ละแปลงมีความผันแปรมาก มีค่าตั้งแต่ต่ำกว่าระดับเหมาะสมจนถึงสูงกว่าระดับเหมาะสมมาก ส่วนปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมดในใบ (Total Chlorophyll) ของยางพาราแต่ละแปลงมีค่าแปรปรวนตั้งแต่ 3.80 ถึง 6.51 มิลลิกรัมต่อตารางเดซิเมตร

        การหาความสัมพันธ์ของเจริญเติบโตของต้นยางกับปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบและสมบัติดินทางเคมีแต่ละตัว เพื่อดูแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างกันพบว่า การเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นรายเดือน (MGI) กับอัตราการเจริญเติบโตสัมพัทธ์ (RGR) และปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบมีความสัมพันธ์กันในรูปเส้นตรงเชิงบวก แต่การเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นรายเดือนกับค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณธาตุโพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมมีความสัมพันธ์ในรูปเส้นตรงเชิงลบ


ไฟล์แนบ
.pdf   1534_2552.pdf (ขนาด: 621.07 KB / ดาวน์โหลด: 3,026)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม