ผลของวิธีการให้น้ำ ให้ปุ๋ยเคมีอัตราต่างๆ ที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของสับปะรด
#1
ผลของวิธีการให้น้ำและการให้ปุ๋ยเคมีอัตราต่างๆ ที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของสับปะรด
ชูศักดิ์ สัจจพงษ์, จินดารัตน์ ชื่นรุ่ง, ศานิต อิ่มพิทักษ์, บพิตร อุไรพงษ์, บุญเลิศ สร้อยเงิน และอุดม วงศ์ชนะภัย
ศูนย์วิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, กลุ่มปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี และศูนย์สารสนเทศ

          การศึกษาผลของวิธีการให้น้ำและการให้ปุ๋ยเคมีอัตราต่างๆ ที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของสับปะรด ได้ทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนกันยายน 2551 โดยใช้สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีการวางแผนการทดลองแบบ Split Plot มี 3 ซ้ำ โดย Main Plot เป็นวิธีการให้น้ำ ส่วน Sub Plot เป็นการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-15 อัตราต่างๆ ได้แก่ 25 50 75 กรัม/ต้น/ฤดู และอัตรา 25 กรัม/ต้น/ฤดู + มูลไก่ 1,000 กก./ไร่ ปริมาณน้ำที่ให้ในกรรมวิธีที่มีการให้น้ำ หาได้โดยวิธีของ Penman ผลการทดลองด้านการเจริญเติบโตปรากฏว่า วิธีการให้น้ำไม่ทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันในทางสถิติ ส่วนการให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-15 อัตรา 50 75 กรัม/ต้น/ฤดู และอัตรา 25 กรัม/ต้น/ฤดู + มูลไก่ 1,000 กก./ไร่ ทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตดีที่สุด การให้น้ำด้วยมินิสปริงเกอร์และระบบหยดน้ำ ทำให้สับปะรดมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกมากกว่าการไม่ให้น้ำ ด้านผลผลิตพบว่า มีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% โดยวิธีการให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์ และระบบหยดน้ำ ทำให้สับปะรดให้ผลผลิตมากที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 10.64 และ 10.24 ตัน/ไร่ สำหรับผลของอัตราปุ๋ยที่มีต่อการให้ผลผลิตของสับปะรด ปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์และระบบน้ำหยดช่วยเพิ่มความกว้าง ความยาว และน้ำหนักของผลสับปะรด การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์และระบบน้ำหยดทำให้สับปะรดมีปริมาณ total soluble solids ลดลง สำหรับความชื้นในดินพบว่า การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและระบบมินิสปริงเกอร์ช่วยทำให้มีปริมาณความชื้นในดินสูงเพียงพอและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสับปะรด


ไฟล์แนบ
.pdf   1970_2553.pdf (ขนาด: 1.89 MB / ดาวน์โหลด: 840)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม