สำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดจากโรครากปมของปทุมมาและกระเจียว
#1
สำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดจากโรครากปมของปทุมมาและกระเจียว
มนตรี เอี่ยมวิมังสา, ธิติยา สารพัฒน์ และไตรเดช ข่ายทอง
กลุ่มบริหารศัตรูพืช และกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างปทุมมาและกระเจียวจากแหล่งปลูกต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก แพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ ทั้งในส่วนที่ปลูกเพื่อการตัดดอกขาย ปลูกเพื่อการขยายพันธุ์ ปลูกเพื่อขายหัวพันธุ์ และปลูกเป็นไม้ประดับทั้งในแปลงปลูก แปลงเพาะชำ กระถางดินเผา กระถางพลาสติก ถุงพลาสติกตลอดจนการปลูกในวัสดุเพาะชำที่เป็นดินและวัสดุอื่นๆ เพื่อให้ทราบแหล่งระบาดและข้อมูลความเสียหายของปทุมมาและกระเจียว ที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม (Root- knot nematode: Meloidogyne spp.) ในพื้นที่ของบริษัทลัดดา ตำบลหนองตากยา อ. ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี มีการปลูกปทุมมาและกระเจียวเพื่อขายหัวพันธุ์และเพื่อการขยายพันธุ์มีการปลูกทั้งหมด 5 พันธุ์ คือ Bangkok Ruby ลัดดาวัลย์ Bangkok Pink Snow White และ Mont Blanc พบว่า ทุกพันธุ์ มีการถูกทำลายโดยไส้เดือนฝอยรากปมชนิด Meloidogyne incognita ส่วนแหล่งปลูกในพื้นที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก มีการปลูกแบบแปลงและปลูกลงกระถาง พบไส้เดือนฝอยรากปมระบาดในแปลงปลูกมากกว่าในกระถางหรือการปลูกในถุงพลาสติก สำหรับจังหวัดลำปางและเชียงใหม่ พบการระบาดในพันธุ์ Chiangmai Pink แต่ไม่พบการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมในจังหวัดแพร่ ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกปทุมมาและกระเจียว เมื่อไส้เดือนฝอยรากปมเข้าทำลายส่วนที่อยู่ใต้ดินทั้งราก แง่งและตุ่มสะสมอาหาร จะทำให้การเจริญเติบโตช้า แคระแกรน ใบเหลือง ดอกเล็ก และที่สำคัญทำให้แง่งพันธุ์หรือหัวพันธ์ถูกทำลายไม่สามารถเก็บไว้ปลูก หรือขายในฤดูกาลต่อไปได้ และการนำแง่งพันธุ์และตุ่มสะสมอาหารที่แสดงอาการโรคหูดไปปลูกยังทำให้เกิดการระบาดของไส้เดือนฝอยดังกล่าวลงสู่ดินด้วย เป็นปัญหาสำคัญในการผลิตปทุมมาและกระเจียวทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ งานต่อไปจะได้ทดสอบสารเคมี สารอินทรีย์ และการใช้เชื้อปฏิปักษ์ ที่มีประสิทธิภาพดีในการควบคุมโรครากปมและการหารูปแบบการควบคุมแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดการจัดการโรครากปมของปทุมมาและกระเจียวได้อย่างเหมาะสมที่สุด


ไฟล์แนบ
.pdf   2026_2554.pdf (ขนาด: 92.29 KB / ดาวน์โหลด: 1,190)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม