ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดข้าวเหนียวในกลุ่มดินร่วน-ร่วนเหนียว
#1
ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดข้าวเหนียวในกลุ่มดินร่วน-ร่วนเหนียว
วนิดา โนบรรเทา, แววตา พลกุล, สายน้ำ อุดพ้วย, ณัฐพงศ์ ศรีสมบัติ, อนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ และอนันต์ ทองภู
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ข้าวโพดข้าวเหนียวแต่ละพันธุ์มีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีความต้องการธาตุอาหารต่างกัน ดังนั้นจึงได้ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดข้าวเหนียวในดินร่วน-ร่วนเหนียว ที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อให้ได้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียว วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Blocks (RCB) 4 ซ้ำ โดยปี 2559 - 2560 ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน 6 ระดับ ได้แก่ 0, 8, 16, 24, 32 และ 40 กิโลกรัม N ต่อไร่ ปุ๋ยฟอสเฟต และโพแทชใส่ตามค่าวิเคราะห์ในอัตรา 5 - 5 กิโลกรัม P2O5-K2O ต่อไร่ ส่วนปี 2561 - 2562 ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสเฟต 7 ระดับ ได้แก่ 0, 4, 8, 12, 16, 20 และ 24 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 24 กิโลกรัม N ต่อไร่ และปุ๋ยโพแทชอัตรา 5 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ และปี 2563 - 2564 ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยโพแทช 7 ระดับ ได้แก่ 0, 6, 12, 18, 24, 30 และ 36 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 24 กิโลกรัม N ต่อไร่ และปุ๋ยฟอสเฟตอัตรา 16 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ ผลการทดลองพบว่า ประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหารจากปุ๋ยเพื่อนำไปสร้างผลผลิตของข้าวโพดข้าวเหนียวสูงและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลุงทุน เมื่อใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 8 - 16 กิโลกรัม N ต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยฟอสเฟตอัตรา 4 - 8 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ และปุ๋ยโพแทชอัตรา 6 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ แต่ในกรณีที่เกษตรกรมีทุนสำหรับซื้อปุ๋ยเคมี การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตรา 24 - 30 กิโลกรัม N ต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยฟอสเฟตอัตรา 12 - 16 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ และโพแทชอัตรา 12 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ข้าวโพดข้าวเหนียวให้ผลผลิตสูงสุด

คำหลัก: ข้าวโพดข้าวเหนียว ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม การดูดใช้ธาตุอาหาร


ไฟล์แนบ
.pdf   5. ศึกษาการตอบสนองและการดูดใช้ธาตุอาหารของข้าวโพดข้าวเหนียวในกลุ่มดินร่วน-ร่วนเหนียว.pdf (ขนาด: 341.88 KB / ดาวน์โหลด: 410)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม