01-17-2019, 10:45 AM
ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟพริก Scirtothrips dorsalis ที่ทำลายพริก
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา และธีราทัย บุญญะประภา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา และธีราทัย บุญญะประภา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
การทราบข้อมูลความต้านทานของเพลี้ยไฟพริกในพริกต่อสารฆ่าแมลงจะช่วยในการเลือกชนิดสารฆ่าแมลงหรือกลุ่มสารฆ่าแมลงที่เหมาะสม เพื่อที่จะนำมาใช้ในการวางแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียน วัตถุประสงค์ของงานทดลองนี้ก็เพื่อทราบความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ในเพลี้ยไฟพริก Scirtothrips dorsalis ที่ทำลายพริกที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทำการทดลองโดยให้เพลี้ยไฟดูดกินใบพริกที่ถูกชุบด้วยสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ที่อัตราแนะนำและที่อัตราความเข้มข้น 2 เท่าของอัตราแนะนำ ผลการทดลองพบว่า ในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายพริกจาก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานสูงมากคือ สาร abamectin, imidacloprid, carbosulfan, cyantraniliprole, tolfenpyrad และ lambda cyhalothrin สารฆ่าแมลงที่มีความเป็นพิษสูงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายพริกจาก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และสามารถใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนได้คือ สาร spinetoram และสาร emamectin benzoate ส่วนในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายพริกจาก อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานสูงมากคือ สาร tolfenpyrad และ lambda cyhalothrin สารฆ่าแมลงที่มีความเป็นพิษสูงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายพริกจาก อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี และสามารถใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนได้คือ สาร spinetoram, emamectin benzoate, fipronil, imidacloprid และ carbosulfan