01-20-2017, 02:24 PM
การทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพถั่วเขียวผิวดำในเขตภาคเหนือตอนล่าง
อารีรัตน์ พระเพชร, สุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน, อรณิชชา สุวรรณโฉม, สันติ พรหมคำ, ปวีณา ไชยวรรณ์, ชัยณรงค์ จันทร์แสนตอ และสมคิด เมฆนิล
ศูนย์วัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท
อารีรัตน์ พระเพชร, สุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน, อรณิชชา สุวรรณโฉม, สันติ พรหมคำ, ปวีณา ไชยวรรณ์, ชัยณรงค์ จันทร์แสนตอ และสมคิด เมฆนิล
ศูนย์วัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท
ทำการทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพถั่วเขียวผิวดำในไร่เกษตรกรอำเภอคีรีมาศจังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2557 จำนวนแปลงทดสอบในไร่เกษตรกร 22 แปลง เพื่อนำพันธุ์ดีและการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเมล็ด และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการทดสอบโดยวีธีการให้ความรู้ และติดตามในแปลงทุกขั้นตอน กรรมวิธีทดสอบในปี 2554 - 2555 มี 3 กรรมวิธี จำนวน 7 แปลงและคัดเลือกวิธีที่ดีที่สุดลงทดสอบในแปลงใหญ่ในปี 2556 จำนวน 5 แปลง และขยายผลในแหล่งปลูกที่สำคัญในปี 2557 จำนวน 10 แปลง ใช้ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 80 เพื่อเปรียบเทียบกรรมวิธีแนะนำของกรมวิชาการเกษตร คือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่ และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยไรโซเบียมร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ เปรียบเทียบวิธีเกษตรกร คือใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่มีการใส่ปุ๋ย ผลการทดสอบพบว่า การปลูกถั่วเขียวผิวดำเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยปลูกเป็นพืชตามหลังการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนสิงหาถึงเดือนกันยายนนั้น จำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีที่มี N : P : K ในอัตราส่วน 3:6:3 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมคลุกเมล็ดก่อนปลูก ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 20 คือ 291 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การปลูกวิธีเกษตรกรให้ผลผลิตเพียง 232 กิโลกรัมต่อไร่ และทำให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้แล้ววิธีแนะนำยังทำให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพโดยมีเมล็ดลีบเพียงร้อยละ 13 ในขณะที่การปลูกและดูแลรักษาแบบวีเกษตรกรมีอัตราเมล็ดลีบมากถึง ถึงร้อยละ 16