01-20-2017, 01:02 PM
ระยะเวลาเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาที่เหมาะสมเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดสายพันธุ์ดีเด่น
จงรักษ์ พันธ์ไชยศรี, ละอองดาว แสงหล้า, กัลยา วิธี, โสพิศ ใจปาละ, ปัทมพร วาสนาเจริญ และสมบัติ คุณยศยิ่ง
ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่
จงรักษ์ พันธ์ไชยศรี, ละอองดาว แสงหล้า, กัลยา วิธี, โสพิศ ใจปาละ, ปัทมพร วาสนาเจริญ และสมบัติ คุณยศยิ่ง
ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาช่วงเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่มีผลต่อผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสด ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ในปี 2555 - 2557 วางแผนการทดลองแบบ Split plot design in RCB จำนวน 3 ซ้ำ กรรมวิธีประกอบด้วย ปัจจัยหลัก คือ พันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดจำนวน 3 พันธุ์ โดยใช้พันธุ์เชียงใหม่ 84-2, MJ 0101-4-6 และ AGS292 ส่วนปัจจัยรอง คือ ระยะเก็บเกี่ยว 4 ระยะ ได้แก่ ระยะฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 50 เปอร์เซ็นต์ (R7.5), ระยะฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 95 เปอร์เซ็นต์ (R8), R8+5 วัน และ R8+10 วัน
ผลการทดลองพบว่า ในฤดูแล้งถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 84-2 ที่ระยะเก็บเกี่ยว R8-R8+5 วัน ให้ผลผลิตเมล็ดและผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงสุด สายพันธุ์ MJ0101-4-6 ที่เก็บเกี่ยวในระยะ R7.5 - R8 ให้ผลผลิตเมล็ดและผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงสุด พันธุ์ AGS292 ที่เก็บเกี่ยวระยะ R7.5-R8 ให้ผลผลิตเมล็ดและผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูง ด้านคุณภาพเมล็ดพันธุ์หลังการปรับปรุงสภาพถั่วเหลืองทุกพันธุ์/สายพันธุ์มีความงอกสูงกว่ามาตรฐานเมล็ดพันธุ์ขยาย และมีความแข็งแรงสูงเช่นกัน ส่วนในฤดูฝน ถั่วเหลืองฝักสดทั้ง 3 พันธุ์/สายพันธุ์ ให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำ อย่างไรก็ตามถั่วเหลืองฝักสดทั้ง 3 พันธุ์/สายพันธุ์ ให้ผลผลิตเมล็ดและผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงสุดที่ระยะเก็บเกี่ยวตั้งแต่ R7.5-R8+10 วัน แต่เมล็ดพันธุ์มีความงอกและความแข็งแรงต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพเมล็ดพันธุ์
ด้านการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดทุกพันธุ์/สายพันธุ์ ในสภาพอุณหภูมิห้องที่ระยะเวลาต่างกันทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนพบว่า เมื่อทำการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เป็นเวลา 2 และ 4 เดือน ทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกและความแข็งแรงลดลงอย่างรวดเร็วทำให้คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเมล็ดพันธุ์ขยาย โดยเฉพาะการผลิตในฤดูฝนเมล็ดที่ได้มีมาตรฐานต่ำกว่าคุณภาพเมล็ดพันธุ์