01-12-2017, 04:05 PM
ออกแบบและพัฒนากลไกการปลิด และเก็บใบอ้อย
ตฤณสิษฐ์ ไกรสินบุรศักดิ์, วิชัย โอภานุกุล, อานนท์ สายคำฟู, วีระ สุขประเสริฐ, พินิจ จิรัคคกุล และมงคล ตุ่นเฮ้า
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น
ตฤณสิษฐ์ ไกรสินบุรศักดิ์, วิชัย โอภานุกุล, อานนท์ สายคำฟู, วีระ สุขประเสริฐ, พินิจ จิรัคคกุล และมงคล ตุ่นเฮ้า
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น
การสางใบอ้อยจะทำก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยประมาณ 2 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานเข้าตัดอ้อยได้สะดวก โดยไม่ต้องเผาใบ ทำให้อากาศระบายได้ดี ลำต้นอ้อยได้รับแสงแดด ทำให้ขยายขนาดปล้อง อ้อยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลสูงขึ้น 15 - 20% เครื่องสางใบอ้อยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะใช้สางใบอ้อยสำหรับตัดอ้อยเข้าโรงงาน โดยมีรอบการหมุนของลูกตีใบประมาณ 800 - 900 รอบต่อนาที ทิศทางการหมุนตามเข็มนาฬิกา ที่ความเร็วรถแทรกเตอร์ 2.09 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (low 2) แต่ไม่สามารถใช้สางใบอ้อยสำหรับอ้อยทำพันธุ์ได้ เพราะตาอ้อยสูญเสียประมาณ 60 - 70% เมื่อทำการลดความเร็วรอบลูกตีใบลงเหลือ 680 รอบต่อนาที และเปลี่ยนทิศทางการหมุนเป็นทวนเข็มนาฬิกา โดยใช้เกียร์ PTO Low 2 ที่ความเร็วรถแทรกเตอร์ Low 2 พบว่าตาอ้อยสูญเสียน้อยที่สุด 9.75% โดยมีอัตราการทำงาน 1.37 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 60 บาทต่อไร่ แต่พบว่าบริเวณความสูงตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไปกลับไม่สะอาด เนื่องจากแรงดึงใบมีค่าสูงขึ้นตามความสูงของอ้อย รวมถึงลูกตีใบของเครื่องสางใบมีรอบการหมุนคงที่ และไม่เคลื่อนที่ งานวิจัยนี้จึงประยุกต์ใช้กลไกแบบ Slider - crank เพื่อให้ลูกตีใบสามารถเคลื่อนที่ขึ้น - ลงในแนวดิ่งโดยพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก 22 แรงม้า สามารถตีใบอ้อยที่ระยะความสูงจากพื้นดินขึ้นไปจนถึงระยะ 2.35 เมตร ต้นกำลังการหมุนลูกตีใบใช้มอเตอร์กระแสตรงขนาด 900 วัตต์ 24 โวลต์ ควบคุมการหมุนด้วยไมโครคอนโทรเลอร์ส่งสัญญาณ PWM (Pulse Width Modulation) เป็น duty เปลี่ยนรอบการหมุนของลูกตีใบตามความสูงของต้นอ้อยแบบอัตโนมัติ สัญญาณ PWM ที่ใช้มีความถี่ 1 กิโลเฮิรตซ์ และมี Pulse Period เป็น 1 มิลลิวินาที ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้สัญญาณความเร็วรอบ out put ราบเรียบ ผลการทดสอบหาความสัมพันธ์ระหว่าง duty ที่ใช้ปรับความเร็วรอบของลูกตีใบที่เหมาะสมกับช่วงความสูงของต้นอ้อย ซึ่งมีแรงดึงใบอ้อยแตกต่างกัน เมื่อทดสอบกับอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 อายุ 6 เดือน ในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีความสูงเฉลี่ย 2.05 เมตร โดยทดสอบที่ 3 ปัจจัย คือ ความเร็วในการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ ความเร็วเชิงเส้นในแนวดิ่งของลูกตีใบ และทิศทางการหมุนของลูกตีใบ พบว่าความสูงตั้งแต่ 0 - 50 เซนติเมตร ใช้ duty cycle 80.56% รอบการหมุนของลูกตีใบ 680 รอบต่อนาที, 50 - 90 เซนติเมตร ใช้ duty cycle 75.56% รอบการหมุนของลูกตีใบ 680 รอบต่อนาที, 90 - 180 เซนติเมตร ใช้ duty cycle 77.78% รอบการหมุนของลูกตีใบ 700 รอบต่อนาที และมากกว่า 180 เซนติเมตรขึ้นไปใช้ duty cycle 0% ทำให้ไม่มีการหมุนของลูกตีใบ เนื่องจากเป็นใบเขียวรอการเจริญเติบโตต่อไป ที่ความเร็วในการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ 2.09 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเชิงเส้นของลูกตีใบ 0.5 เมตรต่อวินาที ทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา ตาต้นอ้อยสูญเสียน้อยที่สุด 1.38% อัตราการทำงาน 0.86 ไร่ต่อชั่วโมง พลังงานไฟฟ้ารวมที่ใช้เฉลี่ย 37.33 แอมป์ต่อชั่วโมง และมีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่ำสุด 3.91 ลิตรต่อไร่