การค้นหาและศึกษาหน้าที่ของยีนที่มีประโยชน์ทางการเกษตร
#1
การค้นหาและศึกษาหน้าที่ของยีนที่มีประโยชน์ทางการเกษตร
พยุงศักดิ์ รวยอารี, สุภาวดี ง้อเหรียญ, กุหลาบ คงทอง, ภุมรินทร์ วณิชชนานันท์, อรุโณทัย ซาววา, มัลลิกา แก้ววิเศษ และหทัยรัตน์ อุไรรงค์

          ปัจจุบันยีนที่มีประโยชน์ทางการเกษตรต่างมีสิทธิบัตรยีน การนำยีนต่างๆ เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตรยีน ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าหายีนที่มีประโยชน์ใหม่ๆ และเพื่อนำมาใช้ต่อยอดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเกษตร โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษายีนที่มีประโยชน์ทางการเกษตรกับพืชต่างๆ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การศึกษาหายีนทนแล้งจากข้าวโพดทนแล้งในสภาวะขาดน้ำเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้งโดยการโคลนยีนและการสร้าง cDNA library การโคลนยีน F3’5’H จากดอกอัญชันและพิทูเนียสีน้ำเงิน และถ่ายฝากลงในยาสูบเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชให้มีสีดอกที่ต้องการ  การโคลนยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์น้ำตาลในอ้อย สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชให้มีศักยภาพในการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้น การโคลนยีนเรืองแสงจากเห็ดเรืองแสง รวมทั้งการนำเทคนิคการถ่ายฝากยีนมาใช้เพื่อศึกษาการถ่ายฝากยีน Sucrose Synthase เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีปริมาณสูงขึ้นและการนำเทคนิค  RNAi เพื่อศึกษาการยับยั้งการแสดงออกของยีน  Deoxyhypusine Synthase (DHS) ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพของเบญจมาศในพืชต้นแบบ

          จากผลการศึกษาพบว่า โครงการวิจัยนี้ได้ผลผลิตโครงการเป็นยีนทนแล้งจากข้าวโพดทนแล้ง เช่น ยีน  DREB, dhn1, Dr4, SINA และ  SINAT3 เป็นต้น ยีน F3’5’H จากดอกอัญชันและพิทูเนีย ยีน Sucrose Synthase ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์น้ำตาล การถ่ายฝากยีน Sucrose Synthase และการนำเทคนิค  RNAi เพื่อศึกษาการยับยั้งการแสดงออกของยีน  Deoxyhypusine Synthase (DHS) ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพของเบญจมาศในพืชต้นแบบ ส่วนยีนเรืองแสงไม่สามารถโคลนได้ ได้เพียงแต่ชิ้นส่วนของโปรตีนที่ยังไม่สามารถจำแนกได้ คาดว่ายีนเรืองแสงของเห็ดเรืองแสงน่าจะเกิดจากการทำปฏิกิริยาของยีนหลายยีนด้วยกัน  ดังนั้นการหายีนเรืองแสงเดี่ยวๆ  จึงอาจมีความยุ่งยากในการที่จะสามารถหาได้

          ดังนั้น การวิจัยภายใต้โครงการวิจัยนี้สามารถเพิ่มข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ในแง่ของยีนที่มีประโยชน์ทางการเกษตร สามารถนำไปใช้กับพืชชนิดอื่นๆ หรือตอบโจทย์ ปัญหาทางการเกษตรได้อีกหากนำไปประยุกต์ใช้  


ไฟล์แนบ
.pdf   180_2558.pdf (ขนาด: 4.57 MB / ดาวน์โหลด: 4,681)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม