การศึกษาความรุนแรงของผลกระทบและการเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง
#1
การศึกษาความรุนแรงของผลกระทบและการเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงหรือมีความคงทนในสภาพแวดล้อม
ผกาสินี คล้ายมาลา

          โครงการวิจัยการศึกษาความรุนแรงของผลกระทบและการเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงหรือมีความคงทนในสภาพแวดล้อม ได้ดำเนินการวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2558 ผลการดำเนินงานวิจัยของโครงการพบว่า สถานการณ์ความรุนแรงของการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต้องมีการเฝ้าระวังการใช้อย่างต่อเนื่อง สรุปผลงานวิจัยใน 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 งานวิจัยการตรวจสอบผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายและผลิตภัณฑ์สารธรรมชาติที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อควบคุมคุณภาพปริมาณสารออกฤทธิ์ให้ตรงกับปริมาณที่ระบุไว้บนฉลาก พบเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์ และคุณสมบัติทางกายภาพในสูตรต่างๆ ของแต่ละชนิดผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่อยู่ในมาตรฐาน แต่ยังตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ผิดจากมาตรฐาน และผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมคุณภาพ กิจกรรมที่ 2 งานวิจัยการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในพืชผัก ผลไม้ มีการเก็บตัวอย่างผลผลิตในกลุ่มพืชหลายชนิด และตัวอย่างในระบบปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice, GAP) ในพื้นที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 1 - 8 ผลผลิตที่พบสารพิษตกค้างควรระมัดระวังในการบริโภคสด ผักและผลไม้ส่วนใหญ่พบปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในช่วงที่ต่ำกว่าค่าปริมาณสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในพืชอาหาร (Maximum residue limits, MRLs) ส่วนสารที่พบเกินค่า MRL ต้องให้ความสำคัญในการตรวจเฝ้าระวังต่อไป กิจกรรมที่ 3 การสะสมและการแพร่กระจายสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม เป็นการศึกษาการเคลื่อนย้ายของสารพิษตกค้างที่ตรวจพบในน้ำผิวดิน ดิน ตะกอน และสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำผิวดิน สารกำจัดวัชพืชที่มีศักยภาพบางชนิดเคลื่อนย้ายสู่น้ำแหล่งน้ำใต้ดินได้ การตรวจพบระดับของสารตกค้างจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรมสามารถนำไปใช้คาดการณ์ปริมาณสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสารตกค้างในพื้นที่ซึ่งยากที่จะตรวจสอบและประมาณได้ กิจกรรมที่ 4 การศึกษาปัญหาและความรุนแรงของผลกระทบจากการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช จากงานวิจัยการประเมินความเสี่ยงจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม การประเมินใช้การบ่งชี้ความเป็นอันตรายตามน้ำหนักของหลักฐาน (Weight of Evidence) ที่รวบรวมข้อมูลจากการทดลอง พบว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารจากการใช้สาร ระดับของความเสี่ยงอยู่ระหว่างระดับที่ยอมรับได้ (Accept) ถึงระดับเสี่ยง (Risk) รวมทั้งตรวจพบสารพิษตกค้างในผลผลิต ดิน น้ำ ตะกอน และสัตว์น้ำบริเวณแปลงทดลอง


ไฟล์แนบ
.pdf   177_2558.pdf (ขนาด: 616.72 KB / ดาวน์โหลด: 2,675)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม