11-24-2016, 10:44 AM
แผนงานวิจัยปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ส้มเปลือกล่อน
ทรงพล สมศรี, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, มณทิรา ภูติวรนาถ, พันธ์ศักดิ์ แก่นหอม, สุทธินี เจริญคิด, ประนอม ใจอ้าย, คณิศร มนุษย์สม, สากล มีสุข, รณรงค์ คนชม, วิภาดา แสงสร้อย และวีระ วรปิติรังสี
ทรงพล สมศรี, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, มณทิรา ภูติวรนาถ, พันธ์ศักดิ์ แก่นหอม, สุทธินี เจริญคิด, ประนอม ใจอ้าย, คณิศร มนุษย์สม, สากล มีสุข, รณรงค์ คนชม, วิภาดา แสงสร้อย และวีระ วรปิติรังสี
โครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ส้มเปลือกล่อน ประกอบด้วย 6 การทดลอง ดำเนินการโดย สำนักผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ น่าน เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศรีสะเกษ และศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 ผลการทดลองสรุปได้ดังนี้
การสำรวจและรวบรวมสายต้นส้มเขียวหวาน สายน้ำผึ้งและส้มต่างๆ ในเขตจังหวัดสุโขทัย แพร่ และน่าน พบว่าสามารถรวบรวมสายต้นที่ทนทานต่อโรคกรีนนิ่งในสภาพธรรมชาติได้ 1 พันธุ์ คือ ส้มเขียวหวานจากจังหวัดสุโขทัย อายุ 28 ปี จำนวน 6 สายต้น จังหวัดน่าน 2 สายต้น ส่วนจังหวัดแพร่ ไม่ได้สายต้นทนโรค นอกจากนี้ยังรวบรวมพันธุ์ส้มเปลือกล่อนที่ทนทานโรคกรีนนิ่งในพื้นที่ระบาดของโรคได้ 18 สายต้น เป็นส้มเขียวหวาน 11 สายต้น ส้มสายน้ำผึ้ง 7 สายต้น ได้ขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดไปทดสอบปลูกที่ ศวพ.แพร่ ศวส.เชียงราย และศวส.ศรีสะเกษ และยังทำการคัดเลือกสายต้นส้มเขียวหวาน สายน้ำผึ้งและส้มต่างๆ ในเขต จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ เชียงราย และน่าน ได้สายต้นทนทาน 12 สายต้น และนำไปปลูกทดสอบที่ ศวพ.น่าน
การผสมพันธุ์ส้มเปลือกล่อนระหว่างส้มส้มเขียวหวานและสายน้ำผึ้งกับส้มพันธุ์แป้นและลาดู ได้ลูกผสมที่ทนทานต่อโรคกรีนนิ่งจำนวน 6 ต้น ประกอบด้วยลูกผสมแป้น x เขียวหวาน 3 ต้น และแป้น x สายน้ำผึ้ง 3 ต้น นำแต่ละต้นของทั้ง 2 คู่ผสม ไปขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอดบนต้นตอ Volkameriana แล้วปลูกในแปลง ศวพ.น่าน วางแผนการทดลองแบบ RCB 9 วิธีการ (2 คู่ผสม รวม 6 สายต้น) 3 ซ้ำๆ ละ 2 ต้น และมีพันธุ์เปรียบเทียบ 3 พันธุ์ ( แป้น เขียวหวานและสายน้ำผึ้ง ) พบว่าสายต้นแป้น x สายน้ำผึ้ง # 3 และ แป้น x เขียงหวาน # 4 อายุ 4 ปี พบอาการโรคกรีนนิ่งน้อยมาก แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากอาจเกิดจากการใช้ต้นตอไม่เหมาะสม
สำหรับการศึกษาการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ส้มต่างๆ โดยการฉายรังสีให้ได้พันธุ์ส้มที่มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ด ได้ทำการเพาะเมล็ดส้มต่างๆ ในสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชักนำให้เกิดยอดแล้วทำการขยาย subculture เพิ่มปริมาณแล้วนำไปฉายรังสี ปริมาณต่างๆ แล้วทำการ subculture จาก M1V1 ถึง M1V4 จำนวน 12 ชนิด/พันธุ์ ซึ่งจะได้นำออกจากขวดไปปลูก และคัดเลือกให้ได้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป
การทดสอบสายต้นสายน้ำผึ้ง/ส้มโชกุน ไม่มีเมล็ดที่ได้จากการฉายรังสี ได้ดำเนินการที่ ศวพ.แพร่ และศวพ.เชียงใหม่ จำนวน 15 สายต้น โดยวางแผนแบบ RCB 15 กรรมวิธี 3 ซ้ำ โดยปลูก 4 ต้นต่อซ้ำ หลังจาก 4 ปี พบว่า 5 สายต้น มีเมล็ดน้อยกว่า 5 เมล็ด โดยสายต้น A4V3-22-2 มีจำนวนเมล็ดน้อยสุด 0.73 เมล็ดและให้ผลผลิตมากที่สุด 221.42 ผลต่อต้น และกำลังเสนอเป็นพันธุ์แนะนำชื่อว่า “พันธุ์แพร่ 1”
สำหรับการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชสกุลส้มและส้มชนิดต่างๆ ได้นำเมล็ดมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสภาพต่างๆ และสามารถเก็บรักษาได้ 16 ชนิด/พันธุ์ จำนวน 542 ขวด 1,349 ต้น ซึ่งจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการต่างๆ ต่อไป