การวิจัยและพัฒนาข้าวฟ่าง
#1
การวิจัยและพัฒนาข้าวฟ่าง
ประพันธ์ ประเสริฐศักดิ์, ดารารัตน์ มณีจันทร์, ศิริวรรณ อำพันฉาย, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, เชาวนาถ พฤธิเทพ, อนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ และพจนา ตระกูลสุขรัตน์

          การทดสอบพันธุ์ข้าวฟ่างหวานลูกผสม จำนวน 7 คู่ผสม (UT1 x Wray), (Wray x SP1), (Wray x UT1040B), (Wray x BJ281), (Wray x Thesis), (Cowley x BJ281), (Wray x Cowley) ในปี 2555 ทำการปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 1 ในฤดูแล้ง และปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 2 ในฤดูฝน และในปี 2556 ปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 3 ในฤดูแล้ง ปลูกข้าวฟ่างหวานลูกผสมชั่วที่ 4 ในฤดูฝน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี โดยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่มีลักษณะที่ดี 15 สายพันธุ์ จึงนำไปทำการเปรียบเทียบเบื้องต้นในปี 2557 - 2558 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์ โดยเปรียบเทียบกับพันธุ์ Wray Keller และ Cowley พบความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญในด้านความสูง เส้นผ่านศูนย์กลางลำ น้ำหนักต้นสด ปริมาณน้ำคั้น และน้ำหนักเมล็ด ซึ่งพบความดีเด่นใกล้เคียงหรือสูงกว่าสายพันธุ์เปรียบเทียบ สำหรับการศึกษาการทดลองเปรียบเทียบปฏิกิริยาข้าวฟ่างหวานจำนวน 33 พันธุ์/สายพันธุ์ และข้าวฟ่างไม้กวาดจำนวน 1 พันธุ์ต่อโรคลำต้นเน่าดำที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina ในสภาพเรือนปลูกพืชทดลอง ทำการปลูกเชื้อบริเวณโคนต้นข้าวฟ่างหวานอายุ 60 วัน โดยใช้วิธี Tooth-picked method ผลการทดลองพบว่า ข้าวฟ่างหวานและข้าวฟ่างไม้กวาดมีดัชนีการเกิดโรคแตกต่างกัน และไม่พบพันธุ์/สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคลำต้นเน่าดำ สำหรับการศึกษาข้อมูลจำเพาะของข้าวฟ่างหวาน จากการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตข้าวฟ่างหวาน ในแต่ละสภาพปลูก จากการปลูกข้าวฟ่างหวาน 3 พันธุ์ (Wray Cowley Suwan และ Sweet Extra) ที่ระยะปลูกต่างๆ พบว่าพันธุ์และระยะปลูกไม่มีปฏิสัมพันุ์กันทางสติติ โดยให้ผลผลิตต้นสดเฉลี่ยระหว่าง 6.55 - 7.55 ตันต่อไร่ พันธุ์ Cowley ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ Suwan Sweet Extra และ Wray การปลูกข้าวฟ่างหวานที่ระยะ 75 x 15 ซม. ให้ขนาดลำต้นเฉลี่ยสูงกว่าการปลูกที่ระยะปลูก 60 x 10 ซม. และ 75 x 10 ซม. ในขณะที่การศึกษาการใช้ประโยชน์จากข้าวฟ่างหวานและผลพลอยได้นั้นพบว่า ข้าวฟ่างหวานที่ทำการศึกษา คือ Wray Cowley Suwan และ Sweet Extra มีศักยภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเอทานอลได้ทั้งในรูปน้ำคั้นสดและการทำน้ำเชื่อม ซึ่งในรูปน้ำเชื่อมควรเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างหวานในระยะเมล็ดเป็นแป้งแข็งและระยะเมล็ดสุกแก่ทางสรีรวิทยาซึ่งจะให้ค่าความเข้มข้นเอทานอลสูงเมื่อนำไปเข้าสู่ขบวนการหมักเอทานอล เช่นเดียวกับการนำชานข้าวฟ่างหวานซึ่งมีปริมาณ cellulose และ hemi-cellulose ในขณะที่การนำชานข้าวฟ่างหวานเพื่อเลี้ยงสัตว์ ในช่วงเวลาอาหารสัตว์ขาดแคลนซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือจากการคั้นน้ำสามารถใช้พันธุ์ Wray และพันธุ์ Cowley โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งระยะเมล็ดเป็นแป้งแข็ง ระยะเมล็ดสุกแก่ทางสรีระวิทยา (pm) และระยะหลัง pm 10 วัน เนื่องจากมีผลผลิตชานแห้งและปริมาณโปรตีนสูง การทดสอบการควบคุมโรคลำต้นเน่าดำที่เกิดจากเชื้อรา Macrophomina phaseolina ในข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Wray ในสภาพโรงเรือนทดลองพบว่า การคลุกดินก่อนปลูกด้วยเชื้อรา T. harzianum ให้ผลการควบคุมโรคลำต้นเน่าดำดีที่สุดโดยมีความยาวแผลที่ลำต้นเฉลี่ย 54.0 เซนติเมตร อีกทั้งยังให้ผลผลิต และปริมาณน้ำคั้นดีที่สุด คือ 667 กรัมต่อต้น และ 204 มิลลิลิตรต่อต้น ตามลำดับ ในขณะที่การศึกษาการใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทุิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่างในข้าวฟ่างหวานพันธุ์ way ปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรีในปี 2555 - 2556 พบว่าสามารถใช้สารฆ่าแมลงโพรไทโอฟอส (โตกุไธออน 50 % EC) อัตรา 50 มล./น้ำ 20 ลิตร และอิมาเม็กตินเบนโซเอต (โปรเคลม 1.92% EC) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร โดยมีประสิทุิภาพใกล้เคียงกับสารฆ่าแมลงคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20 % EC) อัตรา 100 มล./น้ำ 20 ลิตร ซึ่งเป็นสารฆ่าแมลงที่แนะนำให้ใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่าง และจากการทดสอบพันธุ์ข้าวฟ่างหวาน 5 พันธุ์ คือ Cowley, Keller, Wray, BJ281 และ BJ248 ในแปลงใหญ่ ดำเนินการในพื้นที่ไร่เกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ในฤดูแล้งปี 2554 - 2555 พบว่าข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Wray เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่ไร่เขตใช้น้ำฝนภาคเหนือตอนลำง ในขณะที่ข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Cowley เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล ทั้งนี้เนื่องจากให้น้ำหนักต้นสด และค่าความหวานสูง ส่วนการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตข้าวฟ่างหวานที่เหมาะสม สำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาเขตภาคเหนือตอนล่างพบว่า อัตราปลูก 26,666 ต้นต่อไร่ ร่วมกับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ และอัตราปลูก 26,666 ต้นต่อไร่ร่วมกับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นวิธีการที่ให้น้ำหนักต้นสดสูงสุด เมื่อวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ผลปรากฏว่า อัตราปลูก 26,666 ต้นต่อไร่ร่วมกับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล ทั้งนี้เนื่องจากให้น้ำหนักต้นสดและค่าความหวานสูง


ไฟล์แนบ
.pdf   69_2558.pdf (ขนาด: 1.23 MB / ดาวน์โหลด: 6,367)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม