พัฒนาเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไย
#1
พัฒนาเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไย
วิทยา อภัย, สมเพชร เจริญสุข, สุทธินี ลิขิตตระกูลรุ่ง, นิพัฒน์ สุขวิบูลย์, อุทัย นพคุณวงศ์, สนอง อมฤกษ์, สถิตย์พงศ์ รัตนคำ, ชัยวัฒน์ เผ่าสันทัดพาณิชย์, มานพ หาญเทวี และสนอง จรินทร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1, ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย

          ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่เก็บรักษาได้เพียง 2 - 3 วัน เนื่องจากสีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเน่าเสีย การรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) สามารถยืดอายุการเก็บรักษาระหว่างส่งออกได้นาน 30 - 40 วัน แต่บ่อยครั้งที่พบปัญหาการตกค้างของ SO2 ในผลเกินค่ามาตรฐานกำหนดของสาธารณรัฐประชาชนจีนและมีบางประเทศไม่ยอมรับผลไม้ที่ผ่านการรมก๊าซ SO2 ทำให้เป็นข้อจำกัดในการส่งออกลำไยของไทย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลำไยเพื่อการส่งออกระหว่างปี 2554 - 2556 โดยวิจัยหาเทคโนโลยีใหม่ทดแทนการรมก๊าซ SO2 ผลการดำเนินงานได้วิจัยจนได้คำแนะนำลดการตกค้างของ SO2 เช่น ผลที่เปียกน้ำฝนควรแช่กรดเกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ผสมโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 5% นาน 5 นาที พบว่าการตกค้างของ SO2 ต่ำกว่าการรมก๊าซ SO2 ปกติ การวิจัยหาเทคโนโลยีทดแทนการรมก๊าซ SO2 เพื่อยืดอายุเก็บรักษาลำไยพบว่า การแช่ผลในกรดไฮโดรคลอริก 6.4% นาน 5 นาที มีประสิทธิภาพสูงสุดทำให้เก็บรักษาลำไยที่ 2 - 5 เซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 90% ได้นาน 35 วัน มีการตกค้างต่ำและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการส่งออกและผู้บริโภคยอมรับร้อยละ 82 และ 80 ตามลำดับ คณะวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องต้นแบบแช่กรดไฮโดรคลอริกแทนแรงงานคนที่มีขีดความสามารถ 10 ตะกร้าพลาสติกต่อ 5 นาที ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนานี้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งออกลำไยได้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   300_2556.pdf (ขนาด: 923.66 KB / ดาวน์โหลด: 2,020)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม