การศึกษาระบบการตรวจสอบย้อนกลับของลำไยสดส่งออก
#1
การศึกษาระบบการตรวจสอบย้อนกลับของลำไยสดส่งออก
ปริศนา หาญวิริยะพันธุ์, กิ่งกาญจน์ เกียรติอนันต์, ชวนชื่น เดี่ยววิไล และสุวรรณ หาญวิริยะพันธุ์

          การศึกษาระบบการทวนสอบย้อนกลับของลำไยสดส่งออก เพื่อสำรวจและศึกษาการจัดทำระบบทวนสอบย้อนกลับของผู้ประกอบการส่งออกลำไยสด ได้ดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2549 - 2550 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน โดยสุ่มสำรวจผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจำนวน 33 ราย พบว่า ผู้ประกอบการลำไยสดส่งออกร้อยละ 97 รวบรวมผลผลิตเพื่อการส่งออก ประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินโดนีเซียผู้ประกอบการร้อยละ 52 เป็นทั้งผู้รวบรวมผลผลิตและส่งออกลำไยสด การส่งออกลำไยสดผู้ประกอบการมีตราสินค้าของตนเองตั้งแต่ 1 - 10 ตรา ขึ้นอยู่กับขนาดของผู้ประกอบการและกิจการที่ดำเนินการ การรวบรวมผลผลิตลำไยสด ผู้ประกอบการซื้อลำไยสดทั้งจากเกษตรกรและผู้รวบรวมผลผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการร้อยละ 61 ซื้อลำไยโดยตรงกับเกษตรกรทั่วไป สำหรับการซื้อกับเกษตรกรที่เป็นเจ้าประจำ จะมีเกษตรกรเจ้าประจำอยู่จำนวน 1 - 10 ราย ส่วนการซื้อขายกับผู้รวบรวมผลผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการร้อยละ 73 ซื้อลำไยจากผู้รวบรวมผลผลิตรายย่อย ซึ่งร้อยละ 61 เป็นการซื้อกับเจ้าประจำที่ซื้อขายกันมาเป็นเวลา 1 – 10 ปี การรวบรวมผลผลิตลำไยสดนี้ ร้อยละ 94 มีข้อกำหนดเรื่องเกษตรกรผู้ผลิตต้องเป็นสมาชิกโครงการ GAP เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของราชการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ข้อกำหนดที่สำคัญของการรับซื้อทั่วไปคือ ลักษณะของผลลำไย อายุการเก็บเกี่ยว ไม่มีโรคและแมลงที่สำคัญติดมากับผลผลิต สีผิว ส่วนการจัดทำระบบทวนสอบย้อนกลับนั้นผู้ประกอบการทุกรายได้จัดทำระบบการทวนสอบย้อนกลับ ระบบที่จัดทำของแต่ละรายแตกต่างกัน ขั้นต่ำที่สุดคือ สามารถทวนสอบย้อนกลับมาถึงผู้ประกอบการรวบรวมผลผลิตและโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ ผู้ประกอบการร้อยละ 88 แจ้งรหัสโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์และวันผลิตติดไปกับสินค้า นอกนั้นจะใช้รหัสส่งออกแทนโดยทำเป็น bar code หรือ เลขรหัสที่ทำขึ้นเอง


ไฟล์แนบ
.pdf   1090_2551.pdf (ขนาด: 1.73 MB / ดาวน์โหลด: 688)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม