05-19-2016, 03:26 PM
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกัน African red mite, Eutetranychus africanus (Tucker)
อัจฉราภรณ์ ประเสริฐผล, มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และวิมลวรรณ โชติวงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
อัจฉราภรณ์ ประเสริฐผล, มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และวิมลวรรณ โชติวงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
การศึกษาผลของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกัน จากการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชติดต่อกันทุก 14 วัน รวม 3 ครั้ง ตามกรรมวิธี ประกอบด้วย กรรมวิธีที่พ่นสาร carbaryl, fenpropathrin, cypermethrin, mancozeb และไม่พ่นสารในแปลงส้มของเกษตรกร อ.พรานกระต่าย จ.ก าแพงเพชร โดยตรวจนับจำนวนไรแดงหลังพ่นสาร 7 วัน พบว่า สาร mancozeb มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการระบาดมากขึ้นของไรแดงแอฟริกันได้ จึงเก็บรวบรวมไรแดงแอฟริกันจากแปลงทดลอง เพื่อทำการทดสอบผลของสารที่มีต่อลักษณะทางชีววิทยาของไรแดงแอฟริกันในห้องปฏิบัติการพบว่า ไรแดงแอฟริกันจากแปลงทดสอบมีค่า LC50 ต่อสารในแต่ละกรรมวิธี ดังต่อไปนี้ สาร carbaryl 99.973 ppm, fenpropathrin 40.408 ppm, cypermethrin 9.558 ppm และสาร mancozeb 1040.414 ppm จากนั้นทดสอบผลของสารต่อปริมาณการวางไข่ของไรแดงแอฟริกันพบว่า ปริมาณไข่ที่วางได้ของตัวเต็มวัยเพศเมียหลังจากได้รับสาร carbaryl และ mancozeb เฉลี่ย 12.3 ฟองต่อวัน มากกว่าและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณไข่ที่วางได้ของตัวเต็มวัยเพศเมียที่ไม่ได้รับสารซึ่งมีค่าเฉลี่ย 7.6 ฟองต่อวัน จากนั้นทดสอบผลของสารต่อวงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกัน (F1) พบว่า วงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่ได้รับสาร carbaryl มีค่าเฉลี่ย 9.804 วัน ยาวกว่าและมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับวงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่ไม่ได้รับสาร ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 8.125 วัน ส่วนผลของสารต่ออายุขัยและจำนวนไข่ที่วางได้ของตัวเต็มวัยเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ (F1) หลังจากได้รับสาร carbaryl, fenpropathrin, cypermethrin, mancozeb และไม่ได้รับสารพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ จึงสรุปได้ว่า ตัวเต็มวัยเพศเมียของไรแดงแอฟริกัน เมื่อได้รับสาร carbaryl และ mancozeb มีปริมาณไข่ที่วางได้มากกว่าตัวเต็มวัยที่ไม่ได้รับสาร และสาร carbaryl ยังมีผลทำให้วงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกัน (F1) ยาวนานกว่าวงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่ไม่ได้รับสารอีกด้วย