12-23-2015, 02:53 PM
ศึกษาผลกระทบจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร chlorpyrifos ในแปลงปลูกพริกต่อสัตว์น้ำ พืชน้ำ ดิน น้ำ และตะกอน
ผกาสินี คล้ายมาลา, วรวิทย์ สุจิรธรรม และประกิจ จันทร์ติ๊บ
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ผกาสินี คล้ายมาลา, วรวิทย์ สุจิรธรรม และประกิจ จันทร์ติ๊บ
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ทำการทดลองในแปลงปลูกพริกของเกษตรกร ที่ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างเดือนมกราคม ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยเกษตรได้ใช้ chlorpyrifos สูตร 40% W/V EC เมื่อพบการระบาดของศัตรูพืชประมาณ 2-3 ครั้งต่อฤดูปลูก ในอัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นแบบเครื่องยนต์สะพายหลัง โดยเกษตรฉีดพ่น chlorpyrifos จำนวน 3 ครั้ง ฉีดพ่นเมื่อพริกอายุ 99, 106 และ 113 วัน ซึ่งเป็นระยะเริ่มเก็บเกี่ยว ก่อนและหลังจากฉีดพ่น chlorpyrifos ครั้งที่ 3 ได้เก็บตัวอย่างปลานิล (Oreocromis niloticus, Chitrada strain) ปลาตะเพียน (Barbonymus gonionotus common silver barb) นำมาตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างในเนื้อปลา และวัดระดับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase activity, AChE activity) ในสมองปลา ส่วนผักกระเฉด (Neptunia oleracea Lour, water mimosa) ดิน น้ำ และตะกอน นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างหลังการฉีดพ่น 1 ชั่วโมง (0 วัน) ถึง 30 วัน ผลการทดลองตรวจพบ chlorpyrifos ในปลานิลและปลาตะเพียนปริมาณ <LOQ -0.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ค่า LOQ ในปลา 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในปลาตะเพียนหลังฉีดพ่น 1 วัน ส่วนระดับ AChE activity ในสมองปลาทั้งสองชนิดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปลาควบคุม (control) บ่งชี้ว่า ปลาได้รับผลกระทบจาก chlorpyrifos ที่ปนเปื้อนลงสู่ร่องน้ำในวันที่ฉีดพ่น หลังฉีดพ่น 1 วัน จึงมีปลาตายจำนวนมาก สำหรับผักกระเฉดในร่องน้ำแปลงพริกพบปริมาณของ chlorpyrifos <LOQ -1.32 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม (ค่า LOQ ในผักกระเฉด 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) โดยพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในวันที่ฉีดพ่น ส่วนในดินพบปริมาณ chlorpyrifos 0.04-0.34 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในน้ำพบปริมาณ chlorpyrifos 0.02-3.47 ไมโครกรัมต่อลิตร และในตะกอนพบปริมาณ chlorpyrifos <LOQ -0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ค่า LOQ ในดิน และตะกอน 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) หลังฉีดดพ่น 30 วัน ไม่พบปริมาณสารพิษตกค้างของ chlorpyrifos ในตะกอน แต่ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างในดินและน้ำในปริมาณต่ำๆ ดังนั้น การฉีดพ่น chlorpyrifos ในแปลงพริกด้วยเครื่องพ่นแบบเครื่องยนต์สะพายหลังตามอัตราและวิธีข้างต้นพบว่า เกษตรกรควรระมัดระวังความถี่ในการใช้สาร chlorpyrifos เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม