การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรีย Bt และ ไวรัส NPV เพื่อควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายในทานตะวัน
#1
การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรีย Bt และ ไวรัส NPV เพื่อควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายในทานตะวัน
อิศเรส เทียนทัด, อัจฉรา ตันติโชดก, ภัทรพร สรรพนุเคราะห์ และสมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการทดลองพ่นเชื้อ Btk และไวรัส HaNPV โดยใช้วิธีพ่นแบบน้ำน้อยด้วยเครื่องยนต์พ่นสารสะพายหลังแบบใช้แรงลมในแปลงปลูกทานตะวันที่ ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2550 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี มีวิธีการพ่นเชื้อ Btk อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ไวรัส HaNPV อัตรา 50, 100, 150, 200 มิลลิลิตรต่อไร่ และวิธีการไม่พ่นสาร ทำการตรวจนับหนอนก่อนการทดลองพบหนอนเจาะสมอฝ้ายจำนวน 116, 93, 127, 104, 135 และ 128 ตัว ตามลำดับ หลังจากการพ่นสารครั้งที่ 1 สำรวจพบหนอน 71, 63, 74, 65, 28 และ 101 ตัว ตามลำดับ หลังพ่นสารครั้งที่ 2 พบหนอน 44, 35, 28, 16, 14 และ 68 ตัว ตามลำดับ โดยปริมาณหนอนในทุกวิธีการพ่นสารมีความแตกต่างทางสถิติกับวิธีการไม่พ่นสาร โดยวิธีการพ่นไวรัส HaNPV อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ผลควบคุมหนอนได้ดีที่สุด แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับวิธีการพ่นไวรัส HaNPV อัตรา 50, 100 และ 150 มิลลิลิตรต่อไร่ โดยวิธีการพ่นเชื้อ Btk อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ผลควบคุมหนอนได้ต่ำสุด

          ในปี 2551 ได้ทำการทดลองอีกครั้งด้วยวิธีการเหมือนกับในปี 2550 ในสถานที่เดิม เมื่อทำการตรวจนับจำนวนหนอนเจาะสมอฝ้ายก่อนพ่นสารทดลองในวิธีการพ่นเชื้อ Btk อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ไวรัส HaNPV อัตรา 50, 100, 150, 200 มิลลิลิตรต่อไร่ และวิธีการไม่พ่นสารพบจำนวนหนอน 75, 78, 82, 75, 81 และ 77 ตัว ตามลำดับ หลังจากการพ่นสารครั้งที่ 1 สำรวจพบหนอน 36, 27, 23, 35, 27 และ 37 ตัว ตามลำดับ หลังการพ่นสารครั้งที่ 2 พบจำนวนหนอนเหลืออยู่ในแปลงจำนวน 31, 25, 28, 15, 11 และ 30 ตัว ตามลำดับ และจากเปอร์เซ็นต์การควบคุมหนอนพบว่า ในวิธีการพ่นเชื้อ Btk อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ไวรัส HaNPV อัตรา 50, 100, 150 และ 200 มิลลิลิตรต่อไร่ สามารถควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายในแปลงทานตะวันได้ 6.08, 17.73, 12.35, 48.66 และ 65.14 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในปี 2553 ได้ทำการปลูกทานตะวันใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยทำการปลูกทานตะวันขนาดแปลงย่อย 4 x 10 เมตร ใช้ระยะปลูก 60 x 30 เซนติเมตร เมื่อทำการตรวจนับจำนวนหนอนเจาะสมอฝ้ายก่อนพ่นสารทดลองในวิธีการพ่นเชื้อ Btk อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ไวรัส HaNPV อัตรา 50, 100, 150, 200 มิลลิลิตรต่อไร่ และวิธีการไม่พ่นสารพบจำนวนหนอน 156, 180, 158, 192, 181 และ 183 ตัวตามลำดับ หลังจากการพ่นสารครั้งที่ 1 สำรวจพบหนอน 37, 50, 32, 33, 27 และ 98 ตัว ตามลำดับ โดยปริมาณหนอนที่พบในทุกวิธีการพ่นสารมีความแตกต่างทางสถิติกับวิธีการไม่พ่นสาร โดยวิธีการพ่นไวรัส HaNPV อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ผลควบคุมหนอนได้ดีที่สุด แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับวิธีการพ่นเชื้อ Btk อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อไร่ วิธีการพ่นไวรัส HaNPV อัตรา 100 และ 150 มิลลิลิตรต่อไร่ โดยวิธีการพ่นไวรัส HaNPV อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ผลควบคุมหนอนได้ต่ำสุด หลังจากการพ่นสารครั้งที่ 2 สำรวจพบหนอน 2, 2, 1, 2, 1 และ 17 ตัว ตามลำดับ โดยปริมาณหนอนที่พบในทุกวิธีการพ่นสารไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่จะแตกต่างทางสถิติกับวิธีการไม่พ่นสาร


ไฟล์แนบ
.pdf   1622_2553.pdf (ขนาด: 107.17 KB / ดาวน์โหลด: 865)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรีย Bt และ ไวรัส NPV เพื่อควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายในทานตะวัน - โดย doa - 12-23-2015, 01:30 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม