12-23-2015, 11:06 AM
วิจัยและพัฒนาการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพเพื่อการส่งออก
อรุณี วัฒนธรรม,ชูชาติ วัฒนวรรณ, ศรีนวล สุราษฎร์, ชนะศักดิ์ จันปุ่ม, เกษสิริ ฉันทะพิริยะพูน, อานันท์ เลิศรัตน์ และพุฒนา รุ่งระวี
กลุ่มวิชาการ และกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักวิจัยและพัฒนาการเกาตรเขตที่ 6, กลุ่มโครงการพิเศษ และกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ทางสถิติทางการเกษตร กองแผนงานและวิชาการ
อรุณี วัฒนธรรม,ชูชาติ วัฒนวรรณ, ศรีนวล สุราษฎร์, ชนะศักดิ์ จันปุ่ม, เกษสิริ ฉันทะพิริยะพูน, อานันท์ เลิศรัตน์ และพุฒนา รุ่งระวี
กลุ่มวิชาการ และกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักวิจัยและพัฒนาการเกาตรเขตที่ 6, กลุ่มโครงการพิเศษ และกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ทางสถิติทางการเกษตร กองแผนงานและวิชาการ
การวิจัยและพัฒนาการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพเพื่อการส่งออก เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตลำไยนอกนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยนอกฤดูที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยศึกษาการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกร ทดสอบและปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพในพื้นที่เกษตรกร และขยายผลงานวิจัยสู่พื้นที่เป้าหมาย ทำการประเมินผลการใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยของเกษตรกร โดยพิจารณาจากความสอดคล้องของการปฏิบัติงานของเกษตรกรกับเทคโนโลยีการผลิตลำไยตามคู่มือเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับลำไย (GAP) ให้คะแนนและระดับการนำไปใช้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แบ่งระดับการนำไปใช้เป็น 3 ระดับ คือ การนำไปใช้ระดับดี ปานกลาง และต่ำ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 69 นำเทคโนโลยีการผลิตไปใช้ในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 2 นำเทคโนโลยีการผลิตไปใช้ในระดับดี เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตลำไยตามคู่มือเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับลำไย (GAP) เป็นเทคโนโลยีการผลิตพื้นฐาน มิใช่เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูปลูกโดยเฉพาะ จึงได้ทำการค้นคว้าและรวบรวมเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ เน้นเทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตร ทำการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพในพื้นที่เกษตรกร และปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของเกษตรกร ผลการวิจัยพบว่า เทคโนโลยีแนะนำสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออก (เกรด 1 และ 2) จากร้อยละ 64 เป็นร้อยละ 76 โดยเกษตรยอมรับว่าการเตรียมความพร้อมของต้น และการตัดแต่งช่อผล มีผลต่อคุณภาพของผลผลิต ส่วนเทคโนโลยีที่เกษตรกรต้องการให้ปรับเปลี่ยน ได้แก่ ปริมาณการใช้สารคลอเรต การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไย และการใช้ปุ๋ยเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว จึงดำเนินการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตร่วมกับเกษตรกรที่ร่วมโครงการ โดยใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามความจำเป็น และระมัดระวังการใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว ส่วนการให้ปุ๋ยได้เพิ่มการใช้ปุ่ยเคมีสูตร 15-5-20 ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน ทดสอบเทคโนโลยีปรับใช้นี้ในพื้นที่พบว่า วิธีปรับใช้มีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกร้อยละ 76 ในขณะที่เกษตรกรได้ทำการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของตนในด้านการเตรียมความพร้อมของต้น และการตัดแต่งช่อผล ทำให้วิธีเกษตรกรมีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกใกล้เคียงกับวิธีปรับใช้คือร้อยละ 72 แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรมีการปรับใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับสภาพและเงื่อนไขของตน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มศักยภาพการผลิตลำไยคุณภาพของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อสิ้นสุดการทดลองคณะผู้วิจัยได้รายงานผลการดำเนินงานวิจัยในพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ ตำบลคลองใหญ่ และตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน และตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อเผยแพร่งานวิจัย และเป็นเทคโนโลยีทางเลือกให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป