12-21-2015, 02:12 PM
การจัดการสมดุลธาตุอาหารพืชในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในชุดดินสมอทอด
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, ชลวุฒิ ละเอียด, สมฤทัย ตันเจริญ, เข็มพร เพชราภรณ์, ศิริขวัญ ภู่นา, สาธิต อารีรักษ์ และอนันต์ ทองภู่
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, ชลวุฒิ ละเอียด, สมฤทัย ตันเจริญ, เข็มพร เพชราภรณ์, ศิริขวัญ ภู่นา, สาธิต อารีรักษ์ และอนันต์ ทองภู่
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ความสมดุลระหว่างปริมาณธาตุอาหารที่สูญหายออกไปและปริมาณธาตุอาหารที่ใส่กลับลงไปในพื้นที่มีความสำคัญต่อการรักษาศักยภาพการผลิตพืชของดินอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงได้วิจัยเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการสมดุลธาตุอาหารพืชในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นดินด่างชุดดินสมอทอด โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block มี 3 ซ้ำๆ ละ 8 กรรมวิธี ซึ่งเป็นการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับมูลไก่ในอัตราต่างๆ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ย และกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว
ผลการทดลอง สมดุลธาตุอาหารในพื้นที่ปีที่ 1 ซึ่งไม่ได้ไถกลบเศษซากข้าวโพดพบว่า กรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยทำให้ปริมาณธาตุอาหารในพื้นที่ขาดดุลเฉลี่ยเทียบเท่า 10.9-9.4-8.4 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ หรือแม้แต่กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมี 15-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ก็ยังทำให้ปริมาณธาตุอาหารในพื้นที่ขาดดุลเช่นกันเฉลี่ย 5.0-8.2-6.7 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ในปีที่ 2 เมื่อไถกลบเศษซากพืชพบว่า ไนโตรเจนและโพแทสเซียมในกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยมีปริมาณเกินดุลเฉลี่ย 0.5 กิโลกรัม N ต่อไร่ และ 2.4 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ตามลำดับ แต่ฟอสฟอรัสยังมีปริมาณขาดดุลเฉลี่ย 5.4 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ ส่วนกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมี 15-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ทำให้ไนโตรเจนและโพแสเซียมมีปริมาณเกินดุลเฉลี่ย 8.5 กิโลกรัม N ต่อไร่ และ 6.3 กิโลกรัม K2O ต่อไร่ ตามลำดับ แต่ปริมาณฟอสฟอรัสยังมีปริมาณขาดดุลเฉลี่ย 3.9 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ การใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใส่มูลไก่ทำให้ธาตุอาหารในพื้นที่มีค่าเกินดุลหรือมีธาตุอาหารเหลือตกค้างในดินมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวอย่างเห็นได้ชัด การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 2 ในชุดดินสมอทอดโดยใช้ปุ๋ยเคมี 6-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ร่วมกับมูลไก่ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ยังคงปริมาณธาตุอาหารเกินดุล โดยที่ข้าวโพดให้ผลผลิตเฉลี่ย 957 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่ากรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ย (618 กิโลกรัมต่อไร่) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าทุกกรรมวิธี