11-30-2015, 10:24 AM
ประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ต่อไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne incognita) ในพริก
สุรีย์พร บัวอาจ, นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืช และกลุ่มบริการวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน
สุรีย์พร บัวอาจ, นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืช และกลุ่มบริการวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน
นำสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ไปใช้ในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ด้วยวิธีการประยุกต์ใช้ในรูปแบบของก้อนเชื้อในการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี โดยนำก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงรองก้นหลุมก่อนปลูกพริก ในอัตรา 10, 20, 30, 40 และ 50 กรัมต่อกระถาง จากการวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์การเกิดปมที่รากพริกครบ 45 วัน หลังปลูกเชื้อด้วยไส้เดือนฝอยรากปม M. incognita จำนวน 2,000 ไข่/กระถาง พบว่าทุกอัตราการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี โดยเฉพาะที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปมเพียง 12.40 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการใช้ก้อนเชื้อเห็ดรองลงมาที่อัตรา 20, 40, 30 และ 50 กรัมต่อกระถาง ให้ผลไม่แตกต่างกันทางสถิติคือ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปม 23.20, 25.40, 30.00 และ 30.40 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งทุกอัตราการใช้ก้อนจากเชื้อเห็ดเรืองแสงมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียว หรือการใช้สารเคมี carbofuran® ที่พบการเกิดปมสูงถึง 75.60 และ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
จากนั้นทดสอบอัตราการใช้ก้อนเชื้อจากเห็ดเรืองแสงในอัตราการที่ละเอียดขึ้นเพื่อได้ข้อมูลอัตราการใช้ก้อนเชื้อจากเห็ดเรืองแสงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดพบว่า ทุกอัตราการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง 5, 10, 15 และ 20 กรัมต่อต้น สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี โดยเฉพาะที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปมเพียง 11.83 เปอร์เซ็นต์ รองลงคือ อัตรา 15, 20 และ 5 กรัมต่อกระถาง ตามลำดับ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปม 12.25, 15.08 และ 23.25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียวที่พบการเกิดปมสูงถึง 72.25 เปอร์เซ็นต์ และผลการเจริญเติบโตของพืชให้ผลสอดคล้องกัน ทั้งความสูงและน้ำหนักต้นสด พบว่าความสูงของพริกที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง มีผลทำใหพริกสูงมากที่สุด คือ 71.55 เซนติเมตร รองลงมาคือ อัตราที่ 15, 20 และ 5 กรัมต่อกระถาง โดยมีความสูงเท่ากับ 63.63, 56.71 และ 49.71 ซม. ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียว และกรรมวิธีที่ไม่มีการปลูกเชื้อใดๆ ที่มีความสูงเพียง 43.36 และ 49.75 ซม. ตามลำดับ ส่วนผลของน้ำหนักต้นสดพบว่า ที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง ทำใหพริกมีน้ำหนักต้นสดมากที่สุด คือ 113.48 กรัม รองลงมาคือ อัตรา 15, 20 และ 5 กรัมต่อกระถาง โดยมีน้ำหนักสด 102.28, 63.98 และ 49.29 กรัม ตามลำดับ โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ เมื่อเทียบกับพริกที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียว และกรรมวิธีที่ไม่มีการปลูกเชื้อใดๆ ซึ่งให้น้ำหนักต้นสด 35.63 และ 33.48 กรัม ตามลำดับ