ทดสอบ และพัฒนาเทคโนโลยีระบบการปลูกพืชแซมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
#1
ทดสอบ และพัฒนาเทคโนโลยีระบบการปลูกพืชแซมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
บงการ พันธุ์เพ็ง และปิยะนันท์ ไวมาลา

          ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีระบบการปลูกพืชแซมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ดำเนินการระหว่างปี 2559 - 2561 ได้ระบบการปลูกพืชแซมที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 15 ประกอบด้วย 1) งานทดสอบระบบการปลูกพืชแซมมะม่วงหิมพานต์ ดำเนินงานในพื้นที่ อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี พบว่าระบบปลูกถั่วลิสงแซมระหว่างแถวมะม่วงหิมพานต์เป็นระบบที่เกษตรกรได้พึงพอใจมากที่สุด คือ เกษตรกรร้อยละ 88 ยอมรับเทคโนโลยีระบบถั่วลิสงแซมมะม่วงหิมพานต์ระดับยอมรับมาก ในขณะที่เกษตรกรร้อยละ 66 ยอมรับเทคโนโลยีระบบข้าวโพดแซมมะม่วงหิมพานต์ในระดับปานกลาง ทั้งนี้เพราะการปลูกข้าวโพดในฤดูฝนมีปัญหาเรื่องของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญคือ หนอนเจาะลำต้น รวมทั้งข้าวโพดฝักสดเป็นพืชที่ต้องการการปฏิบัติดูแลมากกว่าถั่วลิสง หากเกษตรกรขาดการปฏิบัติดูแลที่ดีอาจทำให้ได้ผลผลิตลดลง ในขณะที่ถั่วลิสงพบปัญหาโรคและแมลงน้อยกว่า รวมทั้งเกษตรกรสามามารถขายผลผลิตถั่วลิสงได้ง่ายกว่าข้าวโพด ซึ่งระบบปลูกถั่วลิสงแซมระหว่างแถวมะม่วงหิมพานต์ให้ผลตอบแทนคิดเป็นกำไรเฉลี่ยเท่ากับ 4,172 บาท/ไร่ 5,180 บาท/ไร่ และ 9,059 บาท/ไร่ ในปี 2559 2560 และ 2561 ตามลำดับ คิดเป็นค่า Benefit Cost Ratio (BCR) เฉลี่ยเท่ากับ 3.0 3.6 และ 5.3 ตามลำดับ 2) งานทดสอบระบบการปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมัน จ.อุบลราชธานี ดำเนินการระหว่างปี 2559 - 2560 ดำเนินงานในพื้นที่ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ผลการทดลองพบว่าระบบปลูกถั่วลิสงแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน ได้รับความพึงพอใจมากกว่า กรรมวิธีปลูกข้าวโพดแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน และ การปลูกถั่วลิสงแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรมากกว่าการปลูกข้าวโพดแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน คือ เกษตรกรร้อยละ 100 ยอมรับเทคโนโลยีระบบถั่วลิสงแซมปาล์มน้ำมันระดับยอมรับมาก ในขณะที่เกษตรกรร้อยละ 50 ยอมรับเทคโนโลยีระบบข้าวโพดแซมปาล์มน้ำมันในระดับปานกลาง ในปี 2559 ถั่วลิสงแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเฉลี่ย 241 กก./ไร่ โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 2,175 บาท/ไร่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเฉลี่ย 7,230 บาท/ไร่ คิดเป็นกำไรเฉลี่ยเท่ากับ 5,055 บาท/ไร่ คิดเป็นค่า Benefit Cost Ratio (BCR) เฉลี่ยเท่ากับ 3.3 และในปี 2560 ถั่วลิสงแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเฉลี่ย 104 กก./ไร่ โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 1,453 บาท/ไร่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเฉลี่ย 3,120 บาท/ไร่ คิดเป็นกำไรเฉลี่ยเท่ากับ 1,667 บาท/ไร่ คิดเป็นค่า Benefit Cost Ratio (BCR) เฉลี่ยเท่ากับ 2.1 ) ทดสอบระบบการปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมัน จ.อำนาจเจริญ ดำเนินการระหว่างปี 2559 - 2560 ในพื้นที่อำเภอปทุมราช จังหวัดอำนาจเจริญ พบว่าระบบการปลูกถั่วลิสงแซมปาล์มน้ำมัน ให้ผลผลิตสูงสุด ต้นทุนน้อยและมีรายได้สุทธิมากที่สุด รองลงมาคือ ระบบการปลูกมันสำปะหลังแซมปาล์มน้ำมัน ส่วนระบบการปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวแซมปาล์มน้ำมัน จะให้ผลผลิต น้อย ต้นทุนสูงและรายได้สุทธิน้อยที่สุด เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีการปลูกถั่วลิสงและมันสำปะหลังแซมปาล์มน้ำมัน ในปี 2559 และ 2560 พบว่าให้ผลผลิต รายได้และค่า BCR สูงสุด โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 229 และ 310 กก./ไร่ รายได้เฉลี่ย 3,032 และ 4,001 บาท/ไร่ และค่า BCR 2.6 และ 3.3


ไฟล์แนบ
.pdf   20_2561.pdf (ขนาด: 375.71 KB / ดาวน์โหลด: 505)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
ทดสอบ และพัฒนาเทคโนโลยีระบบการปลูกพืชแซมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง - โดย doa - 05-31-2019, 10:30 AM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม