ศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากราชอาณาจักรเนเ
#1
การศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และสาธารณรัฐอินเดีย
วรัญญา มาลี, สุคนธ์ทิพย์ สมบัติ, คมศร แสงจินดา, วานิช คำพานิช, ปรียพรรณ พงศาพิชณ์, เยาวภา ตันติวานิช และณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ (Tomato seed, Solanum lycopersicum L.) เป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช และพาหะจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้ามข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ได้รับการผ่อนผันให้นำเข้าได้ตามบทเฉพาะกาล ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมแล้วส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ผลการสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ และตรวจสอบศัตรูพืชขั้นละเอียดในห้องปฏิบัติการ ยังไม่พบศัตรูพืช ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูสำหรับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากเนเธอร์แลนด์ พบศัตรูพืชจำนวน 21 ชนิด แบ่งเป็นเชื้อรา 3 ชนิด แบคทีเรีย 5 ชนิด ไวรอยด์ 5 ชนิด และไวรัส 8 ชนิด มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกัน ในจำนวนนี้เป็นศัตรูพืชกักกันที่มีโอกาสการเข้ามา การตั้งรกราก แพร่กระจาย และมีศักยภาพในการก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทางเศรษฐกิจในประเทศไทย พบว่าศัตรูพืชกักกันที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ แบคทีเรีย Clavibacter michiganensis subsp. michiganensis ไวรอยด์ Columnea latent viroid, Potato spindle tuber viroid, Tomato chlorotic dwart viroid, Tomato apical stunt viroid และไวรัส Pepino mosaic virus ซึ่งศัตรูพืชเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะสำหรับจัดการความเสี่ยงก่อนการส่งออก ได้แก่ เมล็ดมะเขือเทศต้องมาจากพื้นที่หรือแหล่งผลิตที่ปลอดศัตรูพืช (pest free area or pest free place of production) หรือต้องตรวจสอบเมล็ดในห้องปฏิบัติการ (seed health testing) และพบว่าปลอดศัตรูพืชกักกันด้วยวิธีการที่เหมาะสม (appropriated methods) สำหรับมาตรการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ได้แก่ การใช้มาตรการหลายอย่างร่วมกันอย่างเป็นระบบ (system approach) และกำจัดเชื้อสาเหตุโรคพืชที่ติดมากับเมล็ด (seed treatment) เช่น การแช่เมล็ดในสารละลาย 1% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ นาน 5 - 20 นาที และการคลุกเมล็ดด้วยสารกำจัดเชื้อรา เช่น ไธแรม 75 WP ในอัตรา 5 กรัมต่อเมล็ด 500 กรัมหรือแช่ในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส นาน 25 นาที นอกจากนี้เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิตอาการของโรค วัชพืช ดิน และชิ้นส่วนพืชอื่น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้


ไฟล์แนบ
.pdf   97_2560.pdf (ขนาด: 666.54 KB / ดาวน์โหลด: 798)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
ศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากราชอาณาจักรเนเ - โดย doa - 12-13-2018, 02:19 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม